พุทธวิถีในยุค...พระเก๊ เงินแท้... จากภาพยนต์ไทยเรื่อง THE STONE (เดอะสโตน พระแท้ คนเก๊)
ก่อนอื่นผมต้องเกริ่นก่อน…
ในฐานะผู้เขียนบทวิจารณ์นี้ ผมไม่ใช่คอหนัง ไม่ได้มีความรู้ด้านการกำกับแสง หรือมุมกล้องมากไปกว่าคนทั่วไป แต่ด้วยความที่ผมจบมาทางด้านปรัชญาและศาสนา
…จึงมักมองภาพยนตร์ผ่านสายตาของ “คนที่พยายามเข้าใจมนุษย์” มากกว่าความเนี้ยบเชิงศิลป์…
ผมที่ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ ก็เคยดูหนังไทยมาเกือบจะ 30 ปี ไล่ตั้งแต่ยุคที่พระเอกต้องใส่เสื้อขาวตัวใหญ่ ใจซื่อสัตย์ตลอดเรื่อง จนถึงนางเอกที่ร้องไห้ได้ทุกซีน แต่ไม่เคยทำผิดอะไรเลยสักอย่าง ทว่าฝั่งตรงข้ามคือวายร้ายที่เลวจัดจนแทบไม่มีเลือดมนุษย์ไหลอยู่ในตัว
หนังไทยยุคนั้นมีสูตรสำเร็จ“ความดีคือขาว ความเลวคือดำ” คนดูจึงถูกฝึกให้แยกคนออกเป็นสองฝั่ง โดยไม่ต้องถามว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น เราไม่ได้ถูกชวนให้เข้าใจตัวละคร เราแค่ถูกสั่งให้ตัดสิน
แต่หนังไทยรุ่นใหม่เริ่มดีดตัวออกจากกรอบนั้น กล้าพูดกับเราว่า“มนุษย์ไม่มีใครดีล้วน หรือเลวล้วน” และสิ่งที่เราเห็นในตัวละคร…ล้วนเป็นผลสะท้อนของชีวิตเขาทั้งนั้น
ทั้งนี้ผมยังขอยืนยันคำเดิม ว่าผมไม่ใช่นักวิจารณ์หนัง และไม่เคยคิดอยากจะเป็น แต่ในเงื่อนไขหนึ่งเข้าเกณฑ์การที่ผมสามารถที่จะทำสิ่งนี้ได้ มันคือการที่ผมเรียนจบมาทางสาย ปรัชญากับศาสนา ก็เลยจะขอถือวิสาสะ เขียนบทความชิ้นแรกที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย…
ที่พูดถึง “อุตสาหกรรมพระเครื่อง”
พูดถึง “พระพุทธศาสนา”
พูดถึง “ความเป็นมนุษย์” ถึงแม้หนังจะไม่ได้บอกตรงๆ ว่าอยากวิพากษ์อะไร แต่ผมในฐานะผู้ชมที่จะขอวิพากษ์แทนหนังเรื่องนี้ เพียงแต่จะขอพูดแทนคนไทยหลายล้านคน ที่เติบโตมากับคำสอนเรื่องศีลธรรมแต่กลับรู้สึกว่าศาสนาไม่เคยช่วยให้เรารอดในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน
เราจึงหันไปพึ่ง "ของขลัง" แทนคำสอน
พก “พระ” แทนการรักษาศีล
สวดมนต์เพื่อ “ความเฮง” ไม่ใช่เพื่อความสงบในจิตใจ
ภาพยนตร์เรื่อง The stone “พระแท้ คนเก๊” เป็นผลงานการกำกับของผู้กำกับหน้าใหม่ เป้ อารักษ์ ว่าด้วยเรื่องวงการพระเครื่อง ว่าด้วยเรื่องความศรัทธาในวัตถุมงคล และการซื้อขายความศรัทธาเหล่านั้น
แต่สิ่งที่มันทำให้ผมสะเทือนใจที่สุด เมื่อได้รับชมหนังของเขาจบลงแล้วนั้น กลับไม่ใช่เรื่องของ “พระ” แต่คือ “ความเป็นมนุษย์” ของคนที่อยู่เบื้องหลังพระเหล่านั้น ที่ต้องพยายามมีชีวิตอยู่ให้ได้…
ผมเขียนบทวิจารณ์นี้ ไม่ใช่เพื่อตัดสินตัวละคร หรือเพื่อตัดสินบุคลากรในพุทธศาสนา แต่เพื่อต้องการยกบางสิ่งที่อยู่ “ใต้หนัง” ขึ้นมาให้เราคิด ไตร่ตรอง
หรืออย่างน้อยที่สุด…ก็หวังให้เกิดความ“จรรโลงใจกับผู้ที่ได้รับชม” ภาพยนตร์ดี ๆ เช่นนี้บ้าง ในวันที่โลกเราเต็มไปด้วย คำด่า ที่ไม่มีใครตั้งใจฟัง
“เป้” ไม่ใช่เพียงแค่คนทำหนังเกี่ยวกับ “พระ” แต่เขาคือคนที่เอาแวดวงที่ถูกมองว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขที่สุดในสังคมไทย มาขึงบนจอ แล้วแงะออกมาให้เราเห็นว่า ที่ตรงนั้นมันเต็มไปด้วย “เลือด เนื้อ และความกลัว”
มันไม่ใช่การอ้างเหตุผลให้กับความเลว แต่มันคือการพาเราไปเห็น "กระบวนการของความเป็นมนุษย์" ซึ่งมีทั้งแผล ความฝัน ความกลัว และการดิ้นรนอยู่ในนั้น
ไม่ใช่กลัวผีสางนางไม้
ไม่ใช่กลัวบาป
แต่กลัวว่า “ตัวเองจะไม่มีค่าในโลกนี้”
เป้ อารักษ์ สร้างบทหนังที่ไม่สนจะให้ใครมีชีวิตรอดสักคนในตัวละครหลักของหนัง เกือบจะไม่แม้แต่ตัวพระเอกเอง หากแต่โดยเนื้อใน เขาสะท้อนให้เห็นว่า…ในรากฐานวัฒนธรรมไทย
“มีบางสิ่งที่บรรพบุรุษของเรายังรักษากันไว้ และมันไม่เคยจะถูกจำกัดอยู่เพียงในห้วงเวลาหนึ่งของสังคมไทย แต่สืบทอดต่อเนื่องยาวนานมาเป็นร้อยปี”
ในมุมมองนี้ ผมมองว่ามนุษย์ทุกคนอยากมีค่า และทุกคนมีความโลภ แต่เมื่อมันครอบงำเรา ตัวเราก็จะกลายเป็นทาสของมัน ไม่ต่างอะไรกับที่ในหนัง ทุกตัวละครเป็นทาสของวัตถุมงคลที่มีค่ามีราคา
ซึ่งมันก็ยังเป็นความโลภเดียวกันกับ ความโลภที่ทำให้เราอยากกัดแอปเปิ้ลเพื่อประทังชีวิต คือแรงปรารถนาที่มีพลังเท่ากับความโลภที่ทำให้แอปเปิ้ลพิษทำให้ร่างกายของเราต้องแตกสลายหายไปด้วยอานุภาพของมัน
“เป้” ครีเอทบทหนังที่ไม่สนว่าจะต้องเล่าเรื่องดีหรือเลว
เขาเล่าเรื่อง “จริง” แบบที่คนไทยไม่กล้ามองตรง หนังอาจดูมีพระเอก เพราะตัวละครทุกคนมีดี มีเลวเท่ากันหมด ดูไม่มีทางรอด มีแต่ตัวละครที่เดินวนอยู่ในโลกแคบๆ ที่ความเชื่อ ความรอด และศรัทธา ถูกปั้นแต่งขึ้นด้วยฝุ่นผงและราคา
หนังของเขาสะท้อนให้เห็นแล้วว่า เป้ ไม่เคยตัดสิน
เขาไม่บอกว่า “นี่ดี” หรือ “นี่เลว”
เขาแค่ชี้ให้ดูว่า “นี่ไง คนที่คุณไม่เคยสนใจ แต่เขาก็มีชีวิตด้วยกันทุกคน ชีวิตที่นำด้วยความโลภ ย่อมจบด้วยความโลภ” ทำให้คนดูรู้สึกได้ว่า
คนพวกนี้ก็มีเลือดเหมือนเรา
แค่เขาอยู่ในโลกที่ไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะดีกว่านี้ได้
ผู้สร้างไม่ได้อยากให้ใครรู้สึกดี หรืออยากให้ใครเป็นคนดี หรือเป็นคนชั่ว
เขาแค่ไม่อยากให้เราหลอกตัวเองว่า “เราเป็นคนดีกว่าคนในหนังเขา”
แต่เขาคือคนทำหนังที่ซื่อสัตย์กับความเละของชีวิต
ไม่ตกแต่งความจริงให้สวย…
ไม่พูดคำหรู…
ไม่ต้องการสอนศีลธรรม…
แต่จับหัวเรากดลงไปในแอ่งน้ำสกปรก
แล้วปล่อยให้เรามองเงาตัวเองในนั้น
ในประเทศที่คนทำหนังมักสร้างตัวเอกเพื่อให้คนดูรู้สึกว่าตัวเองสูงกว่า แต่เป้!! คือคนทำหนังไม่กี่คนที่ ยอมก้มต่ำไปถึงจุดเดียวกับตัวละคร
แล้วพูดว่า “กูอยู่ตรงนี้ด้วยกันกับมึง”
ที่สำหรับผมมันคือความซื่อสัตย์ทางศิลปะสูงสุด
เขาได้สร้างความเข้าใจใน “ความเป็นมนุษย์” แบบที่ไม่ต้องมีบทเทศน์ซึ้งๆใดๆ มารองรับ
หนังไทยที่ดีในยุคนี้ ผู้สร้างจะไม่พยายามแค่ให้เรารู้สึก “สงสาร” ตัวละคร ซึ่งมันเป็นพื้นที่การแสดงทางศิลปะ ที่เราได้เห็นมนุษย์ทั้งในแง่ดี แง่แย่ โดยไม่ตัดสินอย่างผิวเผิน แต่กลับทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้นทุกครั้งที่เดินออกจากโรงหนัง
พระพุทธศาสนาในหนังของเป้ ไม่ใช่เส้นทางการพ้นทุกข์ แต่เป็นสนามดวลอำนาจ…
ในหนังเรื่องนี้ ศาสนาไม่ได้ปรากฏในรูปของ "คำสอน" แต่มาในรูปของ วัตถุมงคล พระเครื่อง ตะกรุด ผ้ายันต์ ที่ไม่ใช่เพื่อให้หลุดพ้น แต่เพื่อให้รอดจากสิ่งที่เป็นอุปสรรค พระที่ตัวละครพกติดตัว ไม่ใช่เพื่อเตือนใจ แต่เพื่อกันตาย กันจน กันการรบแพ้
ศาสนาในหนังจึงกลายเป็นฉากหลังของความดิ้นรน เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจ และบางครั้งมันก็ทำหน้าที่แทน “ศีลธรรม” เหมือนจะพูดว่า ถ้าใครมีพระดี ใครก็เป็นคนดีได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์อะไรเลย
เงิน - ความโลภ ของคู่กัน
“ เงิน” มิได้เพียงแต่ทำให้เกิด “ กิเลส”
หากแต่“ กิเลส” ก็ทำให้เกิด “ เงิน” เช่นกัน
อำนาจเงิน เมื่อบวกกับศรัทธาก็จะถูกนำไปใช้ซื้อความเป็นความตายของคน
ในหนังของเป้ เครื่องรางไม่ได้เป็นแค่สิ่งของ มันคือ"ใบอนุญาตในการกำหนดชะตาคน" อำนาจจึงไม่ได้อยู่ที่ใครถูกหรือผิด แต่อยู่ที่ “ใครมีของ” และ “ใครเชื่อว่าของนั้นศักดิ์สิทธิ์”
เราเห็นตัวละครใช้พระเครื่องเพื่อซื้อความเคารพ ใช้บารมีแทนคำอธิบาย
“โลกของหนังไม่ใช่โลกของเหตุผล แต่เป็นโลกที่คนยอมให้ความเชื่อควบคุม”
เงินตรา เมื่อมูลค่าของบุญถูกตีราคา
ศาสนาในเรื่องไม่ลอยอยู่ในอากาศ มันอยู่ในตลาด
พระเครื่องมีราคา คนมีราคา ความดีเองก็มีป้ายติดไว้ว่า "แรร์" หรือ "เกรดล่าง"
หนังไม่ได้ด่าคนซื้อพระ แต่อาจถามกลับว่า
"ถ้าความดีซื้อได้ แล้วอะไรจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของคนที่ไม่มีเงิน ?"
พุทธศาสนา ในฐานะของคุณค่าทางวัฒนธรรม ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธองค์
ตัวละครในเรื่องไม่ได้ใช้พุทธเพื่อพ้นทุกข์ พวกเขาใช้พุทธเพื่อสร้างภาพ สร้างอำนาจ สร้างพื้นที่ในสังคม พุทธในเรื่องคือฉากหลัง ที่ไม่ใช่เส้นทางทางธรรม แต่เป็นเส้นทางทางเงิน
เราจึงได้เห็นบทสวดที่ไม่มีใครฟัง, ได้ยินธรรมะที่ไม่มีใครปฏิบัติ
ศาสนาไม่ใช่ศูนย์กลางของการเยียวยา แต่กลายเป็นเครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่ง
เครื่องราง ไม่ใช่ของขลัง แต่มันคือ “ของฝากจากความกลัว”
ในหนัง ตัวละครไม่ได้พกพระเพราะศรัทธาอย่างเดียว พวกเขาพกเพราะกลัว กลัวตาย กลัวจน กลัวแพ้
เครื่องรางจึงเป็นสัญลักษณ์ของการดิ้นรนเอาชีวิตรอดในโลกที่ไม่มีความแน่นอน มันเป็นความหวังก้อนเล็กๆ ที่ทุกคนยอมจ่าย เพื่อหลอกตัวเองว่า “อย่างน้อย เรามีของ”
คุณค่าทางจิตใจ ละครชีวิต มนุษยธรรมนำ…ความรัก
หากเครื่องรางไม่ใช่ของขลังมันก็อาจเป็น"ของฝากจากความกลัว"
ในโลกของตัวละคร ไม่มีใครอยากอ่อนแอ
ไม่มีใครอยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ทุกคนพกพระเพราะกลัว ไม่ใช่เพราะศรัทธา
กลัวตาย กลัวเสียเปรียบ กลัวไม่รอด
พระเครื่องจึงกลายเป็นอาวุธในโลกที่แข่งขันกันด้วยโชคและบารมี
สิ่งที่น่าคิดคือ เมื่อพระเครื่องกลายเป็นเกราะกำบังที่ใครๆ ก็ต้องมี "ความดี" ยังจำเป็นอยู่ไหม? หรือเราจะเชื่อว่าคนดี คือคนที่ "มีของดี" เท่านั้น ?
คุณค่าทางจิตใจ เมื่อศรัทธาไม่ใช่ความรู้สึก แต่คือทุนทางสังคม
หนึ่งในสิ่งที่หนังสะท้อนออกมาอย่างเงียบๆ คือ “ความเปลี่ยวเหงาของมนุษย์”
ตัวละครบางคนไม่ได้พกพระเพื่อโชคลาภ แต่อยากรู้สึกว่า “ยังมีบางสิ่งอยู่ข้างเรา”
ความเชื่อบางครั้งจึงไม่ใช่เรื่องของโลกหน้า แต่คือยาหลอกของโลกนี้ ความศักดิ์สิทธิ์ที่คนโหยหา อาจไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่อาจเป็นแค่ “ความหวังว่าเราจะยังไม่ถูกโลกนี้กลืนกิน”
ละครชีวิต บทบาทที่ไม่มีใครดีสุดขั้ว และก็ไม่มีใครเลวไปซะหมด นี่คืออีกจุดแข็งของภาพยนตร์เรื่องนี้
มันไม่พยายามแบ่งใครเป็น "พระเอก" หรือ "ผู้ร้าย" เพราะในโลกจริง ไม่มีใครขาวล้วน หรือดำล้วน ทุกคนมีเหตุผลในความผิดของตัวเอง และมีบาดแผลในความดีที่ยังไม่หาย
หนังพาเราย้อนดูจุดเริ่มต้นของตัวละคร เพื่อจะบอกว่า “ทุกการกระทำมีที่มา”
แม้บางคนจะเดินทางผิด แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เคยพยายามจะถูก
เมื่อมนุษยธรรมในหนังสะท้อนถึง ความรักในคนรัก บางคนพกพระ แต่บางคนพกคนที่รักอยู่ในใจ
ความรักในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้ปรากฏด้วยคำหวาน หรือฉากโรแมนติก แต่มาในรูปของการยอมแลก ยอมเสีย ยอมอยู่ข้างๆ แม้จะไม่มีอะไรเหลือให้หวัง บางตัวละครยอมตายเพื่อปกป้องใครบางคน บางตัวละครยอมเสียชื่อ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของคนที่เคยช่วยชีวิตเขาไว้
นี่คือความรักแบบ “ไทยแท้” ไม่ยิ่งใหญ่แต่ไม่ถอยหนี และในโลกที่ทุกอย่างเป็นของซื้อขาย ความรักแบบนี้…อาจเป็นของขลังชนิดสุดท้าย ที่ไม่สามารถตีราคาได้
ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ได้พูดถึงบริบททางศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ที่จริงแล้ว…มันยังพูดถึง “มนุษย์” ที่พยายามเอาตัวรอดในโลกที่ศีลธรรมอ่อนแอ และ “ของดี” กลายเป็นสิ่งเดียวที่พอจะทำให้รู้สึกว่า “เราไม่ได้ว่างเปล่าเกินไป”
ศาสนาในหนังไทยยุคใหม่ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แต่เป็นสนามรบของอำนาจ
ในหนังเรื่องนี้ ศาสนาไม่ได้มีไว้เพื่อพัฒนา "จิต" แต่มาในรูปของสิ่งของ เช่น พระเครื่อง ตะกรุด ผ้ายันต์ ที่กลายเป็น เครื่องมือของการเอาตัวรอด
พระในหนัง ไม่ได้ทำหน้าที่สั่งสอน แต่กลายเป็นสินค้าที่สามารถ “เช่าบูชา” ได้ด้วยเงิน เป็นของมีราคา มีรุ่น มีระดับความศักดิ์สิทธิ์ และมี “คนการันตี” ว่าขลังจริง
ใครมีพระดี…คือคนดี
ใครไม่มีของ…คือคนจน
ใครไม่มีเงินเช่า…ก็จะกลายเป็นคนโชคร้ายตั้งแต่ต้นเรื่อง
เครื่องรางไม่ใช่ของขลัง แต่คือเครื่องยืนยันว่า “ชีวิตเรายังเหลืออะไรอยู่”
ในโลกของตัวละคร ไม่มีใครอยากอ่อนแอ ไม่มีใครอยากจน ไม่มีใครอยากตาย ทุกคนพกพระ เพราะไม่รู้จะพกอะไรที่ช่วยตัวเองได้อีกแล้ว
ศรัทธาจึงกลายเป็นสินค้าทางจิตวิญญาณ เป็นของฝากจากความกลัว
และเป็นทางลัดในการเอาชีวิตรอด โดยไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม
พัฒนาการของหนังไทย: จากพระเอกขาวสะอาด สู่ตัวละครสีเทา
จากประวัติศาสตร์หนังไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราเติบโตมากับภาพของ “พระเอก” ที่ดี 100% และ “ตัวร้าย” ที่เลว 100% ขาวก็คือขาว ดำก็คือดำ หนังส่วนใหญ่ไม่ยอมให้ตัวละครดีขึ้น หรือแย่ลงในระหว่างเรื่อง
แต่หนังเรื่องนี้กลับไม่เป็นแบบนั้น มันไม่พยายามบอกว่าพระเอกเป็นคนดี หรือว่าร้าย มันแค่เล่าชีวิตของคนคนหนึ่ง ที่เลือกทางเดินตามเงื่อนไขที่เขามี
ตัวละครจึงไม่ใช่บทเรียนทางศีลธรรม แต่คือภาพสะท้อนของมนุษย์ที่ยังไม่เสร็จ ที่ยังเจ็บ ยังกลัว และยังพลาดอยู่เสมอ
คุณค่าทางจิตใจ: พระเครื่องคือสิ่งยึดเหนี่ยวที่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม
ศาสนาในหนังนี้ ไม่ได้เป็นระบบคิด แต่เป็นสิ่งที่ “รับเอามา” เพราะทุกคนบอกว่ามันดี ไม่มีใครย้อนถามว่าพระเครื่องช่วยอะไร ไม่มีใครรู้ว่าคำสอนในพระไตรปิฎกพูดว่าอะไร
เพราะมันไม่สำคัญสำหรับพวกเขา…
สิ่งสำคัญของตัวละครทุกตัว “ใครมีของดีกว่ากัน”
ใครเช่ารุ่นไหน ใครได้จากวัดไหน
และใคร "แนบแบงค์พันไปกับพานถวาย"
พระเครื่องในหนัง ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ “ทำให้เรารู้ว่า เราเคยกลัวอะไร”
ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ได้สอนธรรมะ แต่แท้จริงแล้วมันกำลังทำหน้าที่แทนพระธรรมในอีกแบบหนึ่ง และมันช่วยให้เราย้อนกลับไปดูตัวเองว่า
“เรายังศรัทธาศาสนาเพราะอะไร?”
“เรายังพึ่งพาพระ เพราะอะไร?”
และเมื่อในวันที่ไม่มีพระติดตัว…
…มนุษย์เรายังมีอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง ?
บางทีคำตอบอาจไม่ได้มาจากคำสอนของศาสนาใด แต่อาจเป็นแค่คนข้างๆ ที่ยังมีชีวิตร่วมทุกข์สุข และยังร่วมยินดีอยู่กับเรา ไม่ว่า ณ ขณะนั้น เรากำลังอยู่ตรงจุดไหนของชีวิต…
“ความโลภที่ทำให้เราอยากกัดผลแอปเปิ้ล เพื่อประทังชีวิต มีแรงปรารถนาน้อยกว่าความโลภที่เราคุมมันไม่ไหวจนเกิดพลั้งไปกัดแอปเปิ้ล ผลที่สามารถทำร่างกายของเราให้แตกสลายได้”.