ทบ.ยัน ภูมะเขือ เป็นพื้นที่ทั้งไทยและเขมร ต่างอ้างสิทธิ์จึงเคลื่อนกำลังเข้าแย่งยึดพื้นที่
ทบ.ยัน ภูมะเขือ เป็นพื้นที่ทั้งไทยและเขมร ต่างอ้างสิทธิ์จึงเคลื่อนกำลังเข้าแย่งยึดพื้นที่ ทำให้มีฐานปฏิบัติการทางทหารของไทยและเขมรอยู่เผชิญหน้ากัน ย้ำไทยยึดมั่นไม่รุกรานใคร
วันที่ 15 ก.ค. 2568 พลตรีวินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงตามที่ปรากฏข่าวว่าทหารกัมพูชายึดภูมะเขือนั้น กองทัพบกขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
ขอเรียนว่า พื้นที่ "ภูมะเขือ" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวปราสาทเขาพระวิหารระยะห่างประมาณ 2.8 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นประเด็นพิพาทระหว่างไทย และกัมพูชา มาตั้งแต่ พ.ศ.2554 โดยฝ่ายกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาเดิม โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร
ปัจจุบันพื้นที่ภูมะเขือ เป็นพื้นที่ที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ์ โดยไทยยึดถือเส้นแนวสันปันน้ำ ตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ของกรมแผนที่ทหาร เป็นแนวเส้นปฏิบัติการใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงาน ส่วนฝ่ายกัมพูชายึดถือแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ในห้วงเกิดข้อพิพาททั้งสองฝ่ายได้เคลื่อนกำลังเข้าแย่งยึดพื้นที่กัน ทำให้ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวจึงมีทั้งฐานปฏิบัติการทางทหารของทั้งไทยและกัมพูชาวางกำลังเปชิญหน้ากัน ไม่ใช่มีเฉพาะทหารกัมพูชาฝ่ายเดียวที่อยู่ในบริเวณพื้นที่อย่างที่เป็นข่าว และที่ตั้งทางทหารของฝ่ายกัมพูชาก็ไม่ได้ล้ำเส้นปฏิบัติการตามแผนที่ 1:50,000 ของเราเข้ามาแต่อย่างใด
ในอดีต การเข้าถึงพื้นที่ด้านบนของภูมะเขือทางฝั่งกัมพูชา ใช้วิธีการสร้างกระเช้าและบันไดเป็นทางขึ้นสู่ยอดภูเขาเนื่องจากสภาพภูมิประเทศฝั่งกัมพูชามีลักษณะลาดชัน อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ฝ่ายกัมพูชาได้สร้างถนนโดยลัดเลาะตามไหล่เขาในเขตกัมพูชาเพื่อใช้เป็นทางขึ้นสู่ด้านบนของภูมะเขือ
สำหรับกรณีการสร้างกระเช้าและถนนขึ้นสู่ยอดภูมะเขือดังกล่าว ฝ่ายไทยเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือภูมิประเทศในบริเวณใกล้เคียง กับพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์กันอยู่ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ล้ำแนวเส้นปฏิบัติการของทหารไทยก็ตาม แต่ถือว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงตาม MOU 2543 ดังนั้น ฝ่ายไทยจึงได้ดำเนินการเก็บหลักฐานและทำการประท้วงผ่านกลไกความร่วมมือทางทหารในระดับพื้นที่มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝ่ายไทยจะยึดมั่นในจุดยืนที่สำคัญได้แก่การไม่รุกรานใคร และยึดมั่นในการแก้ปัญหาด้วยหลักสันติวิธี แต่ยังพบเห็นการกระทำของฝ่ายกัมพูชา ที่มักจะละเมิดในข้อตกลงที่มีระหว่างกันอย่างต่อเนื่องนั้น จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายไทยไม่อาจเพิกเฉยต่อความกังวลที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งได้
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการปกป้องอธิปไตย และความปลอดภัยของประชาชน จึงเป็นภารกิจที่ทหารไทยต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เหมาะสมกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจต่อมิตรประเทศ และสาธารณชนในทุกช่องทาง เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ข้อมูลถูกบิดเบือนโดยผู้ไม่หวังดีในอนาคต