อัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของต้องระวัง
อัลไซเมอร์หมาแมว หรือที่เรียกกันในทางการแพทย์ว่า Cognitive Dysfunction Syndrome (CDS) คือภาวะสมองเสื่อมที่พบได้ใน สุนัขและแมวสูงวัย เกิดจากการเสื่อมสภาพของเซลล์สมอง เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งอาการและพฤติกรรมจะคล้ายกับโรคอัลไซเมอร์ในคน
แม้ภาวะนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การสังเกตอาการและดูแลอย่างเหมาะสม จะช่วยชะลออาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้สัตว์เลี้ยงของคุณได้มากขึ้น
อาการอัลไซเมอร์ในหมาแมว ที่เจ้าของควรสังเกต
อาการของ CDS จะค่อยๆ แสดงออกและแย่ลงตามเวลา โดยอาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้
สุนัข : DISHA
- Disorientation (สับสน) : เดินวน ชนกำแพง หลงทางในบ้าน
- Interaction (ปฏิสัมพันธ์เปลี่ยนไป) : เฉยเมย หรือตื่นกลัวสิ่งเดิม
- Sleep (พฤติกรรมนอนผิดปกติ) : นอนกลางวันมาก ตื่นกลางคืน
- House-soiling (ขับถ่ายผิดที่) : ลืมที่ขับถ่าย
- Activity (ลดหรือเพิ่มความกระวนกระวาย) : เดินวน เห่าร้องไม่มีเหตุผล
แมว : VISHDAAL
อาการหลักเหมือนสุนัข แต่จะมี Anxiety (วิตกกังวล), Learning and Memory (เรียนรู้ช้า ความจำแย่ลง) เพิ่มเข้ามา ถ้าแมวของคุณเริ่ม ลืมที่นอน/ที่ขับถ่าย หรือไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์
สาเหตุของอัลไซเมอร์หมาแมว
CDS เกิดจากความเสื่อมของสมองตามอายุ ประกอบกับการสะสมของโปรตีน เบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) ที่ทำลายเซลล์ประสาท ส่งผลให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ เกิดปัญหาความจำและพฤติกรรมแปลกๆ ตามมา
การวินิจฉัยและแนวทางรักษา CDS
CDS เป็นโรคที่วินิจฉัยโดยการแยกโรคอื่นๆ ออกไปก่อน เช่น โรคข้อ โรคตา หรือโรคหู
การรักษาเน้นดูแลและปรับคุณภาพชีวิต เพราะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
การดูแลพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม
- รักษาตารางเวลา ให้อาหารและพาเดินเล่นตรงเวลา
- จัดบ้านให้นิ่ง ไม่ย้ายของบ่อยๆ
- เพิ่มของเล่นลับสมอง เช่น ซ่อนขนมไว้ตามจุด
- เพิ่มการขับถ่ายนอกบ้าน และเตรียมแผ่นรองฉี่สำรอง
อาหารเสริมและโภชนาการ
- อาหารสูตรพิเศษสำหรับสัตว์สูงวัย
- สารต้านอนุมูลอิสระ โอเมก้า 3
- สมุนไพรบำรุงสมอง เช่น แปะก๊วย
การใช้ยา
สัตวแพทย์อาจสั่งยาเพื่อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือดในสมอง หรือยาคลายเครียด ช่วยลดอาการวิตกกังวล
อัลไซเมอร์หมาแมว หรือ CDS เป็นภาวะที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ควรมองข้าม หากดูแลใส่ใจ ปรับพฤติกรรม และเสริมโภชนาการอย่างเหมาะสม จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กับเราได้นานและมีความสุข