เสี่ยงวัยใสขนมผสมกัญชา ‘ปิดก๊อก’เชื้อร้ายต้นทางดีที่สุด
เช่นที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กวัยเพียง 2 ขวบที่ถูกหามส่งโรงพยาบาลเมื่อไม่นานมานี้ หลังเผลอกินเยลลี่ผสมกัญชาที่ผู้ใหญ่วางไว้ "ทีมข่าวอาชญากรรม" มีโอกาสสอบถามสถานการณ์พร้อมข้อกังวลในกลุ่มวัยนี้ กับ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และอดีตผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนว่า เดิมกัญชาคือยาเสพติดประเภท 4 แต่สามารถนำมาทำเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ ภายใต้การควบคุมของแพทย์และใช้ในกรณีที่จำเป็นผ่านการวินิจฉัยโดยแพทย์ ซึ่งหลักการนี้ตรงกันทั่วโลก
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมเชิงเศรษฐกิจและทางการแพทย์ จึงมีการปลดล็อกและเริ่มมีคนปลูกกัญชาจำนวนมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายกฎหมายยังคลุมเครือทำให้มีผลกับการจัดการ ซึ่งบางประเทศยังถือว่ากัญชาผิดกฎหมายอยู่ ดังนั้น คนที่หิ้วผลิตภัณที่เกี่ยวข้องออกไปต่างประเทศก็สุ่มเสี่ยงทำผิดกฎหมายที่ประเทศปลายทาง
ต่อมาเริ่มมีกรณีนำกัญชามาใส่ในอาหาร ขณะนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ การนำไปใส่ของกินยอดฮิตและกลายเป็นประเด็นขึ้นมาคือ บราวนี่
รศ.นพ.สุริยเดว อธิบายเสริมว่า การผสมกัญชาเข้าไปในอาหารแล้วใช้ความร้อนในการปรุง จะทำให้ค่าความเข้มข้นของน้ำมันกัญชาสูงขึ้น ทำให้ค่า THC สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในแง่ยาเสพติดได้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ แต่ระยะหลังกระทรวงสาธารณสุขประกาศจะนำกัญชากลับสู่การเป็นยาเสพติด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่คือ ไม่มีที่ไหนทำกันในแง่ที่กฎหมายยังไม่เสร็จ แต่ประกาศปลดล็อกไปก่อน ตรงนี้มีความสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อาจนำไปสู่การติดสารเสพติดตัวอื่นได้ด้วย ขณะนี้เยลลี่ผสมกัญชาน่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายแล้ว แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้า คนผลิตก็ไม่ผิด คนซื้อก็ไม่ผิด
รศ.นพ.สุริยเดว ระบุ ก่อนออกประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดอีกรอบ ช่วงหลังมานี้ถือว่าเด็กเข้าถึงได้ง่ายมาก และหากผู้ประกอบการอ้างว่าเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ต้องดูแลลูก ก็ต้องย้อนถามกลับไปว่า แล้วทำ“รูปลักษณ์” ให้ออกมาให้น่ากินทำไม ทำเป็นเยลลี่ที่ใครก็กินได้ทำไม
พร้อมมองด้วยสภาพเศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นเพิ่มความตึงเครียดให้ครอบครัว เพราะนอกจากผู้ปกครองที่ต้องปากกัดตีนถีบ การปลดล็อกที่เกิดขึ้นยังคล้ายเติม “เชื้อโรค” ใส่สังคม ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องคอยรับมือสิ่งที่ลูกต้องเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ดังนั้น อยากสะท้อนไปยังพ่อแม่ อยากให้กำลังใจ สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน อยากฝากให้คุยกับลูกให้มาก และพยายามเข้าใจความรู้สึก อย่าทำบ้านที่ไม่เป็น Happy home เพราะเมื่อลูกหลานเผลอไปหลงผิดไปติดยา หรือใช้ชีวิตสุ่มเสี่ยง จะซ่อมแซมยากหรือง่ายอยู่ที่ปัจจัยพื้นฐานคือ บ้าน
"หากบ้านสามารถสัมผัสได้ถึงความรัก ความอบอุ่น หากก้าวนั้นเป็นก้าวที่พลาดไปแล้วก็ยังเยียวยาได้ แต่อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่าเชื้อโรคทางสังคมมันมีเยอะแล้ว พ่อแม่ต้องรับมือกับหลายสิ่งหลายอย่าง ดังนั้น อะไรที่สามารถปิดก๊อกเสียตั้งแต่ทีแรก จำกัดได้เสียตั้งแต่ต้นทางไปเลย ไม่ดีกว่าหรือ”
รศ.นพ.สุริยเดว ย้ำทิ้งท้าย กัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่ไม่ได้มีไว้บริโภค ไม่ได้มีคำแนะนำในทางการแพทย์ให้นำไปใส่ในขนม ยกตัวอย่างทางการแพทย์ เช่น คนเป็นโรคบางอย่างต้องใช้สารสกัดในปริมาณที่กำหนดโดยแพทย์เป็นผู้วิเคราะห์รายกรณีเท่านั้น.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน