‘บิ๊กเกรียง’ หวั่นแดนขยะโลก ออกโรงแก้วิกฤติขยะพิษคุกคาม 5จ.สารเคมีปนเปื้อนบาดาล
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 68 พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ปัจจุบันการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม ขยะพลาสติก และการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยผิดกฎหมายทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีกรณีศึกษาที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ตรวจพบ เช่น การพบกากของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงการปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนักในแหล่งน้ำบาดาลถึง 5 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ระยอง นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่ออนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด รวมถึงกฎหมายภายในประเทศและประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
พล.อ.เกรียงไกร กล่าวย้ำว่า ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของกฎหมาย การบังคับใช้ที่ยังไม่เข้มงวด และการขาดมาตรการ รวมถึงเครื่องมือที่เหมาะสมในการจัดการ ดังนั้น รัฐบาลต้องมีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน
ด้านนายชีวะภาพ ชีวะธรรม สว. ในฐานะประธาน กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ ปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม ขยะพลาสติก และการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยผิดกฎหมายกำลังเป็นวิกฤติหนักของประเทศ ซึ่งมาจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งการขาดมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม, กฎหมายที่ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะควบคุมการจัดการกากของเสีย ขยะพลาสติก และการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงช่องโหว่ในระบบการตรวจสอบ การดูแลรักษาของกลางในคดีที่ไม่มีประสิทธิภาพ รายงานการติดตามการเคลื่อนย้ายและกำจัดของเสียที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาเป็นวงกว้าง
นายชีวะภาพ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าการลักลอบทิ้งของเสียยังได้รับการสนับสนุนจากกิจกรรมผิดกฎหมายในระดับองค์กรหรือเครือข่ายจากต่างประเทศ โดย กมธ.ทรัพยากรฯ จะนำไปหารือมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว เช่น การปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยและครอบคลุม, ส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการขยะอันตราย เพื่อส่งข้อเสนอไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง
นายชีวะภาพ กล่าวว่า โทษของเรื่องนี้มีน้อย ผู้ประกอบการไม่ค่อยเกรงกลัวกฎหมาย เราจึงมาดูว่าช่องทางไหนที่จะเป็นยาแรงบังคับใช้ เพราะเราถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นอาชญากรรมด้านสิ่งเเวดล้อมเลย
“กฎหมายการฟอกเงินของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีอยู่ข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เขียนไว้ว่าผู้ใดที่ยึดถือครอบครอง ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการค้า จะต้องมูลฐานความผิดด้าน ปปง. จะต้องถูกยึดทรัพย์ ถูกตรวจสอบทรัพย์สิน เพียงแต่ว่าในข้อกฎหมายนี้ ไม่ได้เขียนในมิติของมลพิษ เช่น น้ำเสีย ดินเสีย อากาศเสีย รวมถึงการทิ้งกากอุตสาหกรรม การลักลอบเอาขยะพิษจากต่างประเทศเข้ามา เราจึงพยายามนิยามศัพท์นี้ให้ครอบคลุมมลพิษไปด้วย ใครที่ถูกจับกุมในเรื่องนี้ก็จะถูกยึดทรัพย์ไปด้วย” นายชีวะภาพ กล่าว.