ใช้รถควรรู้! ไฟเลี้ยวแต่ง ผิดกฎหมายอะไรบ้าง?
ใช้รถควรรู้! ไฟเลี้ยวแต่ง ผิดกฎหมายอะไรบ้าง?
สีไฟรถยนต์ ถ้าเราเปลี่ยนจะผิดกฎหมายหรือไม่ แล้วสีแบบไหนเข้าข่ายความผิด
การเปลี่ยนสีไฟรถยนต์เป็นหนึ่งในวิธีที่ผู้ขับขี่นิยมใช้ในการปรับแต่งรถยนต์ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนสีไฟรถยนต์ หากไม่มีความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมายอาจกลายเป็นผู้กระทำความผิดได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า สีไฟรถยนต์แบบใดที่สามารถใช้ได้ และสีใดบ้างที่อาจเข้าข่ายความผิด พร้อมแนะนำวิธีการเลือกใช้สีไฟรถยนต์ที่ถูกต้องและปลอดภัย
สีไฟรถยนต์ที่กฎหมายอนุญาต
ตามกฎหมายการจราจรและข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก ประเทศไทย ไม่ได้มีข้อห้ามในเรื่องของการเปลี่ยนสีไฟรถยนต์ แต่มีข้อกำหนดของสีไฟรถยนต์ที่สามารถใช้ได้ดังนี้
• ไฟหน้า : ต้องเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนเท่านั้น เพื่อไม่ให้รบกวนตาผู้ขับขี่รถคันอื่นและสามารถส่องสว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• ไฟท้าย : ต้องเป็นสีแดง เพื่อให้ผู้ขับขี่ที่ขับตามมาสามารถระบุระยะห่างและระวังตัวได้อย่างชัดเจน
• ไฟเลี้ยว : ต้องเป็นสีเหลืองอำพัน ซึ่งเป็นสีมาตรฐานที่ช่วยให้สัญญาณการเลี้ยวชัดเจน
• ไฟเบรก : ต้องเป็นสีแดง เช่นเดียวกับไฟท้าย เพื่อให้ผู้ขับขี่ด้านหลังสามารถรับรู้การเบรกได้ทันที
• ไฟถอยหลัง : ต้องเป็นสีขาว เพื่อเตือนว่ารถกำลังถอยหลัง
กฎหมายว่าอย่างไร? ไฟเลี้ยวต้องสีอะไรถึงจะถูก
หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สีของไฟสัญญาณต่างๆ บนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถูกควบคุมโดยกฎหมายอย่างชัดเจนครับ ตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดมาตรฐานสีของโคมไฟสัญญาณไว้อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน
สำหรับ "ไฟเลี้ยว" หรือ "ไฟสัญญาณกระพริบ" กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้
- ไฟเลี้ยวด้านหน้า: ต้องเป็น “สีเหลืองอำพัน” (Amber/สีส้ม) หรือ “สีขาว” เท่านั้น
- ไฟเลี้ยวด้านท้าย: ต้องเป็น “สีเหลืองอำพัน” (Amber/สีส้ม) หรือ “สีแดง” เท่านั้น
สรุปง่ายๆ คือ หากคุณคิดจะเปลี่ยนไฟเลี้ยวแต่งเป็นสีสุดเฟี้ยวอย่าง สีน้ำเงิน, สีเขียว, สีม่วง, หรือสีไอซ์บลู ขอบอกเลยว่า “ผิดกฎหมาย” เต็มๆ ครับ
ซึ่งในการดัดแปลงสภาพรถให้มีอุปกรณ์ส่วนควบผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดนั้น มีบทลงโทษตามมาตรา 12 ประกอบมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งระบุว่า มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งนอกจากการเสียค่าปรับแล้ว หากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบ คุณอาจต้องเสียเวลาเพื่อแก้ไขให้กลับมาเป็นแบบเดิมอีกด้วย