“วิทัย รัตนากร” เปิดสูตรแก้หนี้ครัวเรือน-ออมเงิน รับวัยเกษียณ
“วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน หนึ่งในโผผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า ธปท. ที่จะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในสิ้นเดือนก.ย.68 นั้น ได้กล่าวบรรยายในหัวข้อ “หนี้บัตร หนี้บ้าน หนี้นอกระบบ จัดการอย่างไร” ในงานอมรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2568 ปีที่ 19 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
โดยนายวิทัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยมาตรการเดียว แต่ต้องช่วยกันทำงานสอดประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการออกมาตรการอย่างต่อเนื่องมาเพื่อช่วยบรรเทาปัญหา และต้องเป็นมาตรการที่ทำได้จริง เพื่อทำให้ประชาชนหายใจได้คล่องขึ้น มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคเป็นเรื่องจำเป็น การขับเคลื่อนเรื่องของเศรษฐกิจให้โตได้
โดยได้เสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน 3 แนวทาง ได้แก่
1.เศรษฐกิจต้องเติบโต คนมีรายได้เพิ่ม ก็จะมีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เป็นเปอร์เซ็นต์และยอดหนี้รวมจะลดลงได้จากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น
“Nominal GDP 4.5% เป็นไปได้ หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในค่ากลางของกรอบเป้าหมาย 1-3% และเศรษฐกิจโตได้ 2.5% เชื่อว่าภายใน 2-3 ปี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะลดลงได้ต่ำกว่า 80%”
2.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ จะช่วยให้ลูกหนี้ตัดเงินต้นได้มากขึ้นแม้จ่ายเท่าเดิม ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และทำให้สภาพเงินส่วนบุคคลดีขึ้น และจะลดหนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่ลงเร็ว
3.มาตรการเสริมอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยบรรเทา
“การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่จะต้องเลือกและรู้จักว่าเป็นหนี้เพื่ออะไร พิจารณาอัตราดอกเบี้ยให้ดี หนี้บ้านมีดอกเบี้ยต่ำที่สุด ส่วนแพงที่สุดคือหนี้บัตร ไม่แนะนำให้เป็นหนี้บัตรเครดิตเลยถ้าไม่จำเป็น“
นายวิทัย กล่าวต่อว่า คนที่มีหนี้บ้าน ยิ่งลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ก็ยิ่งปิดหนี้ได้เร็ว สำหรับคนที่มีหนี้บ้านสามารถจัดการได้ 3 แนวทาง คือ
1.ช่วง 3 ปีแรกที่ดอกเบี้ยบ้านต่ำที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3% สำหรับลูกหนี้ที่มีประวัติชำระดี สิ่งที่ต้องทำคือทุกๆ 36 เดือน ให้ขอยื่นรีไฟแนนซ์ หรือรีเทนชั่นกับธนาคารเดิม ให้ดอกเบี้ยปีกลับมาอยู่ในระดับต่ำลง
2.เพิ่มยอดการผ่อนจ่ายในแต่ละเดือนจากยอดขั้นต่ำ จะได้มีระยะเวลาจ่ายค่างวดที่สั้นลง ซึ่งหมายถึงยอดดอกเบี้ยก็จะลดลงตาม
3.ชำระเงินต้นเพิ่มในแต่ละปี จากเงินโบนัสหรือรายได้พิเศษ ยิ่งตัดเงินต้นในช่วง 3 ปีแรกได้มากเท่าไหร่ ก็จะเป็นยอดดอกเบี้ยรวมที่ลดลงด้วย
นอกจากนี้ นายวิทัย ยังกล่าวถึงการเก็บออมด้วย ว่า อันดับแรกต้องมีเป้าหมายให้ชัดว่าปลายทางต้องการมีเท่าไหร่ ให้ลองคำนวณจากเงินที่ต้องการใช้ในแต่ละเดือนหลังเกษียณ ต้องมีเท่าไหร่จึงจะพอใช้ คูณกับระยะเวลาที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังจากนั้น
“ผมเริ่มออมตั้งแต่ก่อนอายุ 30 ปี ที่สำคัญต้องออมก่อนใช้ ออมสม่ำเสมอ หากปัจจุบันยังมีไม่พอใช้ ให้ลองคิดเริ่มออมจากเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี เป็นการเก็บเงินจากอนาคต”
นอกจากนี้ อย่าออมด้วยการฝากเงินอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นจะถูกเงินเฟ้อกินหมด ต้องรู้จักกระจายความเสี่ยง ศึกษาเรื่องการลงทุน ไม่ว่าจะพันธบัตร หรือหุ้นที่สนใจ