ดัชนีเชื่อมั่น 14 จว.ใต้ มิ.ย.ดิ่ง หนี้ครัวเรือนพุ่ง กำลังซื้อหด แนะเปลี่ยนรองนายกฯคุมศก.-รมว.คลัง
ดัชนีเชื่อมั่น 14 จว.ใต้ มิ.ย.ดิ่ง หนี้ครัวเรือนพุ่ง กำลังซื้อหด แนะเปลี่ยนรองนายกฯคุมศก.-รมว.คลัง
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ 420 ตัวอย่างด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือน มิ.ย. ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน พ.ค.
ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ การลดลงของหนี้สิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวว่าปัจจัยลบที่สำคัญ การส่งออกของไทยลดลง เนื่องจากประเทศที่เป็นคู่ค้าของไทย อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป อยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ความต้องการสินค้าไทยลดลง การแข่งขันจากประเทศคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งมีต้นทุนด้านแรงงานต่ำกว่าไทย ประเทศคู่แข่งขันยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐด้านการส่งออกเป็นอย่างมาก ซึ่งต่างจากภาครัฐของไทยที่ส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกค่อนข้างน้อย และดำเนินงานแบบเชิงรับมากกว่าเชิงรุก
ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวในประเทศลดลง อาทิ จีน กลุ่มประเทศยุโรป และประเทศในอาเซียน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ นักท่องเที่ยวมองว่าการท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่ค่อยปลอดภัย จากเหตุการณ์ลักพาตัวนักท่องเที่ยวจีน มีธุรกิจและกลุ่มบุคคลที่ทำผิดกฎหมายจำนวนมากที่ฉ้อโกงและหลอกลวงนักท่องเที่ยว อาทิ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แท็กซี่เรียกเก็บค่าโดยสารเกินจริง ร้านขายของปลอมในราคาของแท้ และตำรวจนอกรีตที่ข่มขู่เพื่อเรียกรับเงินจากนักท่องเที่ยว
“นโยบายภาครัฐด้านการท่องเที่ยวไทยไม่ตอบสนองต่อความต้องการและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเลือกท่องเที่ยวประเทศที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ จะเลือกท่องเที่ยวในประเทศที่มีความคุ้มค่า”
ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวว่าจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้รายได้ของประชาชนไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่า 90% ต่อ GDP ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนในประเทศลดลงอย่างมาก ผู้บริหารประเทศขาดวิสัยทัศน์และขาดการดำเนินงานเชิงรุก ทำให้การบริหารงานผิดพลาด ล่าช้า และไม่มีความชัดเจน อาทิ นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท บ้านเพื่อคนไทย การปรับค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี เป็นต้น
“การทุจริตและคอร์รัปชันของนักการเมืองและระบบราชการในประเทศไทยที่มากขึ้น การทุจริตเชิงนโยบาย โดยการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนักการเมือง กลุ่มทุน และกลุ่มผลประโยชน์ของนักการเมือง การฮั้วประมูล และกินหัวคิวของโครงการภาครัฐ โดยเกิดขึ้นในโครงการก่อสร้าง การทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการและองค์กรอิสระที่สูงเกินจริง การฟอกเงินของนักการเมืองและข้าราชการบางคนที่ใช้บริษัทของเครือญาติบังหน้า การฝังรากลึกของธุรกิจสีดำและสีเทาในประเทศไทย อาทิ การพนันออนไลน์ บ่อนการพนัน ธุรกิจค้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทัวร์ศูนย์เหรียญ โดยกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มทุนต่างชาติ กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองบางคน”
ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวว่า รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในสิ่งที่คาดหวังและต้องการ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือน ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 67 และมีสัญญาณชะลอตัวการลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง เห็นได้ชัดเจนว่า สภาพเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำเป็นอย่างมาก หลังจากวันสงกรานต์ วันที่ 21 เม.ย.68 และตกต่ำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
“นายกรัฐมนตรีควรหารองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และมีความเหมาะสมที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย มีภาวะผู้นำ กล้าตัดสินใจ มีจริยธรรมและมีความโปร่งใสเป็นที่ประจักษ์ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มทุน และกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง”
ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวว่าการบริหารงานของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ขาดความชัดเจนในการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ประชาชนมองว่า เป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวทางด้านเศรษฐกิจ เพราะไม่สามารถดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจตามที่หาเสียงได้ ขาดความเชื่อมั่น และมีความกังวลเรื่องความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณ ต้องการทราบว่าจากการที่รัฐบาลปรับการใช้งบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เปลี่ยนเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลได้นำงบประมาณไปใช้ในโครงการอะไรบ้าง และประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไร ให้รัฐบาลชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบด้วย
ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวว่าประชาชนมองว่า ประเทศไทยในขณะนี้อยู่ในช่วงวิกฤตแทบทุกด้าน เนื่องจากผู้บริหารของประเทศและนักการเมือง ล้วนมองแต่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง มากกว่าผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ประชาชนจึงวอนขอผู้ที่เกี่ยวข้องให้ใช้อำนาจทางกฎหมายในการจัดการกับบุคคลเหล่านี้ และนำผู้ที่กระทำความผิดมารับโทษตามกฎหมาย รวมถึงไม่สามารถกลับมามีอำนาจในการบริหารประเทศได้อีก
“ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ควรแก้ปัญหาแบบสันติวิธี โดยใช้การเจรจาแบบทวิภาคี ซึ่งเป็นการเจรจาโดยใช้กลไกคณะกรรมาธิการร่วมชายแดน (JBC) ในการหาข้อยุติที่เป็นธรรม เพื่อไม่ให้ประชาชนบริเวณชายแดนได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลไทยควรสื่อสารไปยังผู้นำของประเทศกัมพูชา ว่าหากไม่ยอมเจรจาเพื่อหาข้อยุติ รัฐบาลไทยจะมีมาตรการตอบโต้ เริ่มจาก มาตรการทางการทูต ด้านเศรษฐกิจ และมาตรการด้านความมั่นคง”ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ดัชนีเชื่อมั่น 14 จว.ใต้ มิ.ย.ดิ่ง หนี้ครัวเรือนพุ่ง กำลังซื้อหด แนะเปลี่ยนรองนายกฯคุมศก.-รมว.คลัง
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th