"พาณิชย์" กางแผนครึ่งปีหลัง กันสวมสิทธิ - เยียวยาธุรกิจ ยกระดับดูแลส่งออกไทย
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในครึ่งปีหลัง 2568 นี้ กรมฯ ได้วางแผนปกป้องและสร้างความเป็นธรรมทางการค้าให้แก่ผู้ผลิตในประเทศที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากการทุ่มตลาด การอุดหนุน และการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการป้องกันการสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าไปสหรัฐอเมริกา โดยแผนการดำเนินงานการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า ในช่วง 6 เดือนหลัง ปี 68 จะมีงานไต่สวน อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) 2 กรณี มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอซี) 3 กรณี และมาตรการปกป้อง 1 กรณี
ทั้งนี้ เป็นมาตรการที่เพิ่มเติมจากปัจจุบัน ที่กรมฯ มีการใช้มาตรการ เอดี ไปแล้วกับ 22 ประเทศ 22 กรณี โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเหล็ก และไทยถูกใช้มาตรการเอดี จาก 18 ประเทศ 73 กรณี อาทิ สินค้าเหล็ก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนมาตรการซีวีดี ไทยยังไม่มีการใช้มาตรการนี้ แต่กลับถูกใช้จาก 3 ประเทศ 7 กรณี ได้แก่ อินเดีย 4 กรณี ลวดทองแดง, ไม้อัด, ท่อทองแดง, กรดไขมันอิ่มตัว ด้านสหรัฐอเมริกา ใช้ในเหล็กแผ่นรีดร้อน, เซลล์แสงอาทิตย์ และเวียดนาม น้ำตาล ส่วนมาตรการเซฟการ์ด ไทยไม่มีการใช้มาตรการ แต่ถูกใช้จาก 9 ประเทศ 19 กรณี อาทิ สินค้าเหล็ก เคมีภัณฑ์ มาตรการเอซี ไทยมีการบังคับใช้มาตรการ 1 กรณี คือ สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยจากผู้ผลิตจีน 17 ราย และไทยถูกใช้ จาก 3 ประเทศ 6 กรณี
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเพื่อยื่นคำขอใช้มาตรการฯ เอดี 9 กรณี เซฟการ์ด 3 กรณี และเอซี 2 กรณีการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดผ่านระบบ โรเวอร์ส พลัส ซึ่งกรมฯ มีแผนดำเนินโครงการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าแบบไร้กระดาษ กับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางภาครัฐเพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงการให้บริการระบบตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าแบบไร้กระดาษ โดยเร็วๆ นี้ กรมฯ ดำเนินการออกประกาศปรับปรุงบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวังในการส่งออกไปสหรัฐจาก 49 รายการ เป็น 65 รายการ คาดว่า จะแล้วเสร็จในเดือน กรกฎาคม 2568
ส่วนการตรวจสอบการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ได้มีการสุ่มตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าของผู้ส่งออกที่ได้ขึ้นทะเบียนรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ภายใต้กรอบความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองในการส่งออกไปสมาพันธรัฐสวิสและราชอาณาจักรนอร์เวย์ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของไทย โดยมีกำหนดตรวจสอบในเดือน สิงหาคม - กันยายน 2568
นางอารดา กล่าวว่า กรมฯ ยังดำเนินงานแก้ต่างที่ต่างประเทศต้องการใช้มาตรการกับสินค้าส่งออกของไทย กรมฯ มีหน้าที่จัดทำข้อคิดเห็น ข้อโต้แย้ง และให้คำปรึกษากับผู้ส่งออกไทยในการตอบแบบสอบถาม และเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ต่าง ที่รวบรวมข้อมูลส่งให้หน่วยงานต่างประเทศประกอบการไต่สวน ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผลิตอเมริกากี่โมง "Trump Mobile" ธุรกิจใหม่ครอบครัวทรัมป์ ขายฝัน? "Made in USA"
- "มันสำปะหลัง” พืชเศรษฐกิจที่ไม่ธรรมดา ส่งไปจีนปั้นมูลค่า 5 หมื่นล้าน
- EICชี้ส่งออกพ.ค.พุ่งแรงดันทั้งปีนี้ติดลบลดลง
- "พาณิชย์" รับมือกัมพูชา เร่งกระจายผลไม้ในประเทศ ชี้ยังไม่กระทบส่งออก มีหลายเส้นทางทดแทน
- ส่งออก พ.ค. 68 พุ่ง 18.4 % สูงสุดรอบ 38 เดือน มูลค่าสูงสุดประวัติศาสตร์