“รฟท.” ยังรอ “อัยการสูงสุด” เช็กร่างสัญญาฯ รถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน ไม่ได้หารือในประเด็นร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินประมาณ 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ร่างสัญญาดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการตรวจร่างสัญญาฯ ของอัยการสูงสุด เมื่อแล้วเสร็จจะส่งกลับมายัง รฟท. หากมีข้อเสนอแนะ หรือประเด็นใดเพิ่มเติม ต้องนำมาปรับแก้ไข และรายงานบอร์ด รฟท. รับทราบ แต่หากไม่มีประเด็นใดเพิ่มเติม รฟท. จะเสนอไปคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณา และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือน ส.ค.2568
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า หาก ครม. เห็นชอบ รฟท. จะดำเนินการลงนามสัญญากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน ผู้รับสัมปทานโครงการฯ ทันทีภายในเดือน ส.ค.2568 จากนั้นคาดว่าจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน (NTP) ให้แก่เอกชนภายในเดือน ก.ย.2568 และเปิดให้บริการในปี 2572 อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการดำเนินโครงการฯ ล่าช้าไปมากแล้ว หลังจากที่มีการลงนามสัญญาฯ มาตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 โดยขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท. มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (อทส.) เช่าที่ดินพร้อมอาคารกลาสเฮาส์ รัชดา บริเวณถนนรัชดาภิเษก 1 แปลง ประมาณ 6 พันตารางเมตร (ตร.ม.) หรือประมาณเกือบ 4 ไร่ เพื่อให้ อทส. นำพื้นที่ดังกล่าวไปเปิดให้เช่าช่วงต่อไป ทั้งนี้ รฟท. จะลงนามสัญญากับ อทส. ในวันที่ 1 ส.ค.2568 ระยะเวลาเช่า 30 ปี ทั้งนี้สัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าว สิ้นสุดสัญญาตั้งแต่เมื่อเดือน ก.พ.2567 และได้ขยายสัญญาเช่าให้บริษัท กลาสเฮ้าส์ รัชดา จำกัด ผู้เช่ารายเดิม จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ก.ค.2568 โดยเดิม รฟท. ได้รายได้จากพื้นที่นี้ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นราคาเก่าที่ประเมินไว้มากกว่า 10 ปี และเป็นราคาที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ อทส. ต้องประเมินราคาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งค่าเช่าที่ อทส. ต้องจ่ายให้ รฟท. ไม่น้อยกว่าที่ รฟท. เคยได้รับ และหากมีกำไรต้องแบ่งรายได้เพิ่มให้ รฟท. ด้วย เบื้องต้นมูลค่าประเมินที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างพื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบันประมาณ 1 พันล้านบาท ถือเป็นที่ดินแปลงแรกที่ อทส. เช่าพื้นที่จาก รฟท. เพื่อนำไปสร้างรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ ส่วนรายเดิมจะเป็นผู้เช่าหรือรายใหม่ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของ อทส.
นายอนันต์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ รฟท. ได้มอบสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ให้แก่ อทส. แล้ว 12,233 สัญญา ซึ่งบางพื้นที่ได้เริ่มดำเนินการศึกษาพัฒนาแล้ว อาทิ ที่ดินบริเวณสถานีธนบุรี (ตลาดศาลาน้ำร้อน) โดยอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาปรับปรุง เบื้องต้นจะพัฒนาให้เป็นตลาดที่มี 3 ชั้น และมีที่จอดรถด้วย จากเดิมเป็นตลาดชั้นเดียว ซึ่งจะพัฒนาให้มีลักษณะคล้ายกับตลาดปลาในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามการศึกษาฯ จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนสรุปอีกครั้ง
ปัจจุบัน รฟท. มีรายได้ประมาณ 9,700 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นรายได้จากการให้บริการเดินรถโดยสาร และขนส่งสินค้า ประมาณ 6 พันล้านบาท และรายได้จากการเช่าที่ดินประมาณ 3,700 ล้านบาท ซึ่งในปี 2569 รฟท. ตั้งเป้าหมายว่า รฟท. จะมีรายได้จากค่าเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ รฟท. จะมีรายได้รวมทะลุ 1 หมื่นล้านบาท.