‘พิชัย’ แจงถกสหรัฐรอบ 2 ฉลุย มั่นใจได้ภาษีไม่เกิน 20%
“พิชัย” แจงถกสหรัฐฯ รอบ 2 ฉลุย บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ฟุ้งข้อเสนอใหม่จึ้งมาก มั่นใจไทยได้อัตราภาษีไม่เกิน 20% แน่ รับต้องเปิดตลาดแต่ไม่มาก ยืนยันดูแลผู้ประกอบการในประเทศก่อน โดยเฉพาะภาคเกษตร-อุตสาหกรรมที่เป็นซัพพลายเชนเอสเอ็มอี พร้อมหนุนเพิ่มประสิทธิภาพ อัปขีดความสามารถการแข่งขันสู้ทั่วโลก
18 ก.ค. 2568 - นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวภายหลังการเจรจาเรื่องภาษีนำเข้าระหว่างประเทศไทย และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 ว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี ทิศทางชัดเจน มีการใช้เวลาพูดคุย 30 นาที ซึ่งเต็มตามกรอบที่มีการตกลงกันไว้ และมั่นใจว่าข้อเสนอของไทยที่ได้มีการปรับปรุงและยื่นไปใหม่นั้นเป็นข้อเสนอที่ดีมาก มีหลักการที่ดี ทำให้คาดว่าไทยน่าจะได้อัตราภาษีที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับภูมิภาค ซึ่งอินโดนีเซีย ได้อัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่ 19% และเวียดนามที่ 20%
“เอาอย่างนี้นะครับ ผมคิดว่าเราอยู่ในภูมิภาคนี้ ผมขอคาดเดาว่าเราก็น่าจะได้อัตราภาษีที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ส่วนถามว่าจะไม่เกิน 20% ใช่หรือไม่นั้น ก็น่าจะแปลว่าอย่างนั้น และผมเข้าใจว่าเราอาจจะไม่ได้คำตอบวันนี้ (18 ก.ค.) เพราะเชื่อว่าที่คุยกันล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ข้อมูลน่าจะส่งขึ้นไปถึงระดับสูงวันนี้ (18 ก.ค.) แต่ยืนยันว่ามีสัญญาณที่ดีจากบรรยากาศการหารือที่ดี และทางสหรัฐฯ พูดว่าเป็นข้อเสนอที่ดีมาก (very substantial improvement)” นายพิชัย ระบุ
ทั้งนี้ มองว่าข้อเสนอที่ไทยได้ปรับปรุงและยื่นไปใหม่นั้น มีการตอบสนองกับสิ่งที่เคยมีการพูดไว้ทั้งหมด ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาในมิติต่าง ๆ ทำให้บรรยากาศการเจรจาออกมาดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Tariffs หรือเรื่องสินค้าผ่านทาง ส่วนเรื่องการเปิดตลาดของไทยนั้น ยอมรับว่ามี แต่จะมีมูลค่าไม่มาก โดยขอยืนยันว่า ไทยยังยืนอยู่บนหลักการว่าจะต้องให้ความสำคัญและดูแลผู้ผลิตภายในประเทศก่อน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรบางชนิดที่หลายฝ่ายเป็นกังวล รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่เป็นซัพพลายเชนของเอสเอ็มอี ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มที่จะต้องเข้าไปดูแล แม้ว่าบางอย่างอาจจะต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ก็จะมีการดูแลปริมาณการผลิตในประเทศให้เหมาะสมก่อน และอีกเรื่องที่สำคัญและมองว่าเป็นข้อดีที่ไทยจะถือโอกาสในการเร่งดำเนินการ นั่นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ประกอบการภายในประเทศ
สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังปรับตัวไม่ทัน ในส่วนนี้รัฐบาลจะต้องเข้าไปส่งเสริม และดูแลกันไปก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่สำคัญ และมีไม่เยอะ เพราะเชื่อว่าจะมีสินค้าบางอย่างที่แม้ว่าเราจะเปิดตลาดให้ แต่สหรัฐฯ ก็อาจจะไม่มีสินค้าส่งเข้ามา หรือส่งเข้ามาแล้วก็อาจจะแข่งขันไม่ได้ เพราะราคาอาจจะแพงกว่ามาก
“เรื่องการเปิดตลาดของไทยนั้น ผมยังยืนยันบนหลักการที่พูดเสมอว่าต้องดูแลภายในประเทศก่อน ไม่ว่าในเชิงเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมที่เป็นซัพพลายเชนเอสเอ็มอี เราต้องดูแลทั้ง 2 ส่วนก่อน เมื่อดูแลแล้วก็จะรู้ว่าตรงไหนเป็นจุดอ่อน จากนั้นเราก็จะไปเสริมสร้างประสิทธิภาพอย่างเร่งด่วน เพราะว่าจุดที่ดีที่สุดคือการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ได้ ถ้าเราสร้างได้แล้วไม่ว่าประสิทธิภาพต้นทุน คุณภาพสินค้า จะไปสู้กับใครก็ได้ทั่วโลก ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อมีการเปิดตลาด แปลว่าประเทศไทยต้องพร้อมที่จะเดินไปในแนวรุก ไม่ใช่ว่าสั่งสินค้าเข้ามาเพื่อลดขาดดุลเพียงอย่างเดียว แต่เราจะต้องเปิดแนวรุก ขนาดเศรษฐกิจต้องใหญ่ขึ้น ถ้าเป็นอย่างนั้น เมื่อซื้อเพิ่มก็ต้องขายเพิ่มให้ทั่วโลกให้ได้ ตรงนี้ต้องทำควบคู่กันไป” นายพิชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าข้อเสนอที่มีการปรับปรุงและยื่นไปใหม่นั้น นั้นตรงเป้าหมายของสหรัฐฯ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ระบุว่า “ถามว่ามีใครในโลกนี้ที่เสนอตรงเป้าทั้งหมด บอกให้ผมฟังหน่อย คงไม่มีหรอกครับ” โดยส่วนตัวมองว่าข้อเสนอที่ได้มีการปรับปรุงไปใหม่นั้น น่าจะเข้าเป้าหมายได้ดีที่สุด และไม่ได้เป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยจะต้องฝืนใจตัวเอง แต่เป็นเป้าหมายที่ทำให้ไทยจะต้องยอมรับว่าไทยจะต้องเปิดให้กว้างขึ้น และเข้าไปยืนอยู่ในจุดที่ประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้ โดยยังอยู่บนหลักการ win-win ของประเทศ
ส่วนกรณีอัตราภาษีของสินค้าสวมสิทธิผ่านผ่านทาง (Transshipment) นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องมาหารือกันต่อว่าจะดูแลเรื่องนี้อย่างไร จะมีการคิดอัตราภาษีแบบ 2 tier แบบเวียดนามหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่ทราบว่าสหรัฐฯ และเวียดนามมีการตกลงกันอย่างไร แต่ในฐานะที่ทำงานเรื่องนี้ มองว่าสินค้าที่ซื้อขายมีหลายกลุ่ม ดังนั้นสหรัฐฯ ก็อาจจะมีการคิดอัตราภาษีนำเข้าในหลายอัตรา เช่น สินค้ากลุ่มล่างก็อาจจะคิดภาษีหลายอัตรา ส่วนสินค้ากลุ่มบนอาจจะคิดภาษีอัตราเดียว ซึ่งตรงนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ พิจารณากันต่อไป.