นัดที่2 เบิกความพิจารณาคดี “ทักษิณ” ชั้น14 รพ.ตำรวจ
นัดที่2 เบิกความพิจารณาคดี “ทักษิณ” ชั้น14 รพ.ตำรวจ แพทย์ยันเวชระเบียนตรงกับรพ.ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 68 ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการนัดพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 ซึ่งเป็นคดีที่อัยการสูงสุด ร่วมกับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย
ในการพิจารณาวันนี้ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยคือ นายทักษิณ ไม่ต้องเดินทางมาศาล โดยให้ทนายความเป็นผู้แทนในการฟังการไต่สวนแทน ซึ่งเป็นการไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์จำนวน 5 ปาก
บรรยากาศภายในห้องพิจารณาเป็นไปอย่างเคร่งเครียดและเป็นทางการ โดยมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีอย่างใกล้ชิด อาทิ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, นายสมชาย แสวงการ, นายนิติธร ล้ำเหลือ และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและให้ความสนใจในประเด็นคดีนี้มาอย่างต่อเนื่อง
วันนี้มีอัยการจำนวน 5 คนขึ้นเบิกความต่อหน้าศาล โดยฝ่ายจำเลยนั่งอยู่ด้านขวาของบัลลังก์ ขณะเดียวกัน ทนายความจำเลยก็ได้มีผู้ติดตามมาร่วมฟังการพิจารณาจำนวน 5 คน การไต่สวนดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยใช้เวลาทั้งสิ้นกว่า 3 ชั่วโมง เป็นการซักถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานในคดี
พยานทั้ง 5 ปาก ประกอบด้วย พยาบาลจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 คน, พยาบาลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์อีก 2 คน และพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 1 คน ให้ความร่วมมือกับศาลเป็นอย่างดี ตอบคำถามของทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยได้อย่างชัดเจน
ผู้สื่อข่าว The Room 44 รายงานว่า ประเด็นที่มีการซักถาม ‘พยานคนที่ 1-3’ ในวันนี้ เกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐาน ในการปฏิบัติหน้าที่ของวิชาชีพแพทย์ ในการตรวจสุขภาพ ของจำเลย คือ นายทักษิณ ซึ่งในคืนวันที่เกิดเหตุ 22 สิงหาคม 2566 มีการระบุถึง อาการของจำเลย ว่า จำเลยมีอาการเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย จึงมีการวัดความดันโลหิตและประเมินภาวะทางร่างกายเบื้องต้น พบเพียงภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ไม่พบความผิดปกติอื่นเพิ่มเติม
จากนั้น ศาลได้นำเอกสารเวชระเบียนมาให้พยานตรวจสอบ โดยพยานยืนยันว่า เป็นเวชระเบียนจากโรงพยาบาลในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งแพทย์ได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวร่วมกับอาการปัจจุบันของจำเลยเพื่อประเมินโรคที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ข้อมูลในเวชระเบียนจากต่างประเทศตรงกับข้อมูลการรักษาในเรือนจำ จึงยืนยันได้ว่าเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. จำเลยได้แจ้งว่ามีอาการเหนื่อยและเพลีย จึงได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และประเมินว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอส่งตัวจำเลยไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนการที่ไม่ส่งตรวจที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ก่อนนั้น พยานชี้แจงว่า ได้ประเมินสถานการณ์แล้วว่ามีความเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อน อีกทั้งอาการของจำเลยเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะดูแลได้ อุปกรณ์และยาที่จำเป็นก็ไม่มี จึงจำเป็นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า
ในส่วนของ ‘พยานคนที่ 4 และ5’ ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยให้การว่า ตนมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยพยาบาลเท่านั้น และไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการตรวจสุขภาพของจำเลยโดยตรง เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานทั้งสองไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้ยุติการซักถามในเวลา 12.10 น.
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดในการเบิกความ รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏในชั้นศาล ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เนื่องจากอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกระบวนการพิจารณาคดี ทั้งนี้ ศาลได้นัดหมายการไต่สวนพยานครั้งต่อไปไว้ในวันที่ 8, 15 และ 25 กรกฎาคมนี้