ธปท. จับตาผลกระทบภาษีสหรัฐใกล้ชิด ห่วงเอสเอ็มอีกระอัก แนะเร่งปรับตัว
ธปท. จับตาภาษีสหรัฐ กระทบหลายช่องทาง ห่วงเอสเอ็มอีกระอัก แนะผู้ประกอบการปรับตัว ชี้ช่องทบทวนปรับสัดส่วนค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มจาก 40%
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานมอบรางวัลเกียรติยศ MONEY & BANKING AWARDS 2025 ปีที่ 18 ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย ทั้งจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจภายในที่เผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างมาอย่างต่อเนื่อง การที่จะก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้นั้น สิ่งสำคัญคือความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน ในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้โอกาสนี้เร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวและขับเคลื่อนต่อไปได้ในระยะข้างหน้า
สำหรับความคืบหน้าการเจรจาขอปรับลดการเก็บภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับสหรัฐนั้น เริ่มเห็นความชัดเจนในการเจรจาในประเทศอื่นๆ บ้างแล้วบางส่วน แม้จะยังไม่มีรายละเอียด แต่หลังจากนี้จะต้องมีมาตรการบรรเทาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสิ่งสุดท้ายที่สำคัญ แต่มักถูกละเลยคือ การปรับตัว ไม่ใช้เน้นตัวเลขการส่งออกหรือการลงทุน
“แต่ละประเทศต้องดูของตัวเอง เพราะสิ่งที่จะมีผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าต้นทางจากประเทศอื่น (Transshipment) ว่าจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร และอะไรจะนับเป็น Transshipment ซึ่งจะมีผลกระทบค่อนข้างเยอะ ทั้งเรื่องการลงทุน และด้านอื่นๆ”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ผมไม่ได้อยู่ในทีมเจรจา ซึ่งเรื่องของการเปิดตลาด 90% อยากจะฝากไว้นิดนึง เรื่องผลกระทบจะมาจากหลายช่องทาง คือ 1.กลุ่มส่งออกไปสหรัฐโดยตรง 2.กลุ่มที่จะมีผลจากการเจรจาภาษีที่จะลดลง และกลุ่มที่เราเป็นห่วงและส่งเสียงไปหลายครั้ง 3.กลุ่มสินค้าที่ทะลักเข้ามาจากที่เขาส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ และกลุ่มธุรกิจสาขาที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก และมีความเปราะบางค่อนข้างเยอะ
ในส่วนของนโยบายการเงิน ธปท.ได้พิจารณาปัจจัยเหล่านี้ในการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายการเงินไม่ใช่เฉพาะเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่านั้น แต่ยังมีมาตรการอื่น เช่น เรื่องหนี้ เป็นต้น โดยเฉพาะการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น อยากจะยืนยันว่าไม่ได้มาจากเกณฑ์ของ ธปท.ว่าเข้มหรือคุมการปล่อยสินเชื่อ แต่ยอมรับว่ามีธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เพราะมีความเสี่ยงสูง ทำให้สถาบันการเงินไม่อยากปล่อยสินเชื่อ
ดังนั้น จะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ ความเสี่ยงจะเป็นเรื่องของกลไกค้ำประกันสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นกลไกผ่าน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือกลไกด้านอื่นที่จะลดความเสี่ยง ช่วยแบ่งเบาความเสี่ยง ไม่ได้เป็นเกณฑ์ของ ธปท.
“ธปท. มองว่าประเด็นที่ต้องทบทวน คือ สัดส่วนการค้ำประกันอาจต้องปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในยามที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 40% แต่อยากบอกว่า ปัญหาเหล่านี้ต้นตอไม่เฉพาะแค่ฝั่งการเงิน แต่จะเป็นเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย เพราะถ้าธุรกิจแข่งขันไม่ได้ จะให้สินเชื่อไปแก้ปัญหาคงไม่ได้ แต่หากธุรกิจมีการปรับตัว มีศักยภาพ เชื่อว่าแบงก์ก็ต้องการทำกำไร ก็น่าจะปล่อยสินเชื่อได้”
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ธปท. จับตาผลกระทบภาษีสหรัฐใกล้ชิด ห่วงเอสเอ็มอีกระอัก แนะเร่งปรับตัว
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th