ไขความหมาย "อาบัติ" โทษพระสงฆ์ ครุกาบัติ - ลหุกาบัติต่างกันอย่างไร?
วันที่ 16 ก.ค.68 เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โพสต์ข้อความระบุว่า…
อาบัติ แปลว่า การต้อง, การล่วงละเมิด หมายถึงโทษที่เกิดจาการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ ใช้เรียกความผิดทางวินัยของพระภิกษุว่า ต้องอาบัติ
อาบัติ มี 7 อย่าง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
๏ ครุกาบัติ หมายถึงอาบัติหนัก อาบัติที่มีโทษร้ายแรง มี 2 อย่างคือ อาบัติปาราชิก 4 และอาบัติสังฆาทิเสส 13
๏ ลหุกาบัติ หมายถึงอาบัติเบา อาบัติที่ไม่มีโทษร้ายแรงเท่าครุกาบัติ มี 5 อย่าง คือ อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติทุกกฏ อาบัติทุพภาษิต
๏ ปาราชิก 4 ประกอบด้วย
1.เสพเมถุน
2.ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน
3.การฆ่าคน
4.ไม่รู้เฉพาะ แต่กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรม
๏ สังฆาทิเสส 13 เป็นโทษร้ายแรงรองจากปาราชิก โดยเหตุแห่งการอาบัติ ประกอบไปด้วย
1.ปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน
2.เคล้าคลึง จับมือ จับช้องผม ลูบคลำ จับต้องอวัยวะอันใดก็ตามของสตรีเพศ
3.พูดจาหยาบคาย เกาะแกะสตรีเพศ เกี้ยวพาราสี
4.การกล่าวถึงคุณในการบำเรอตนด้วยกาม หรือถอยคำพาดพิงเมถุน
5.ทำตัวเป็นสื่อรัก บอกความต้องการของอีกฝ่ายให้กับหญิงหรือชาย แม้สามีกับภรรยา หรือแม้แต่หญิงขายบริการ
6.สร้างกุฏิด้วยการขอ
7.สร้างวิหารใหญ่ โดยพระสงฆ์มิได้กำหนดที่ รุกรานคนอื่น
8.แกล้งใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
9.แกล้งสมมุติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
10.ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน
11.เป็นพวกของผู้ที่ทำสงฆ์ให้แตกกัน
12.เป็นผู้ว่ายากสอนยาก และต้องโดนเตือนถึง ๓ ครั้ง
13. ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ประจบคฤหัสถ์
๏ อาบัติสังฆาทิเสส แม้จะเป็นอาบัติที่ร้ายแรง แต่พระสงฆ์ยังสามารถแก้อาบัตินั้นได้ โดยวุฏฐานวิธีซึ่งเรียกว่า การปริวาสกรรม เป็นการปลงอาบัติด้วยการอยู่กรรม และต้องมีพระสงฆ์อื่นร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 4 รูป เพื่อขอประพฤติวัตรที่เรียกว่า มานัต ซึ่งเป็นพิธีการที่หมู่พระสงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เพื่อให้กลับเข้าสู่หมู่สงฆ์ได้เช่นเดิม การประพฤติวัตรดังกล่าวนี้ ใช้เวลา 6 คืน เมื่อพ้นแล้วจึงขอให้พระสงฆ์ 20 รูป ทำสังฆกรรมสวดอัพภาน เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงถือว่า ภิกษุรูปนั้นพ้นจากอาบัติข้อนี้ไป
๏ กรณีครุกาบัติ เฉพาะอาบัติสังฆาทิเสส หากภิกษุต้องอาบัติ จะต้องเข้าสู่กระบวนการวุฏฐานวิธี ดังกล่าวข้างต้น (ตามจำนวนวันที่ปกปิดอาบัติไว้)เพื่อให้พ้นจากอาบัติ กลับมาเป็นปกตัตตะภิกษุได้ดังเดิม
แต่หากว่าผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเป็นพระสังฆาธิการหรือมีสมณศักดิ์ เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ จำเป็นต้องใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ มาพิจารณา โดยใช้จริยาพระสังฆาธิการ เป็นตัวตั้ง ซึ่งจริยาพระสังฆาธิการ 8 ข้อ ประกอบด้วย :-
1.พระสังฆาธิการต้องเอื้อเฟื้อต่อกฏหมาย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช สังวรและปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยโดยเคร่งคัด
2.พระสังฆาธิการต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งนั้นให้เสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง และเมื่อได้ทัดทานดังกล่าวมาแล้วนั้น แต่ผู้สั่งมิได้ถอนหรือแก้คำสั่งนั้น ถ้าคำสั่งนั้นไม่ผิดพระวินัยต้องปฏิบัติตาม แล้วรายงานจนถึงผู้สั่ง
ในกรณีที่มีการทัดทานคำสั่งดังกล่าวในวรรคแรก ให้ผู้สั่งรายงานเรื่องทั้งหมดไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน เพื่อพิจารณาสั่งการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามมิให้ทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษเป็นครั้งคราว
3.พระสังฆาธิการต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดความเสียหายแก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา และห้ามมิให้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
4.พระสังฆาธิการต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ และห้ามมิให้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่สมควร
5.พระสังฆาธิการต้องสุภาพเรียบร้อยต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนและผู้อยู่ในปกครอง
6.พระสังฆาธิการต้องรักษาส่งเสริมสามัคคีในหมู่คณะ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบ
7.พระสังฆาธิการต้องอำนวยความสะดวกในหน้าที่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา
8.พระสังฆาธิการต้องรักษาข้อความอันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ที่ยังไม่ควรเปิดเผย
๏ หากพระสังฆาธิการละเมิดจริยา จะได้รับโทษอะไรบ้าง? ซึ่งในกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าว ระบุไว้ดังนี้ :-
ข้อ 54 พระสังฆาธิการรูปใดประพฤติละเมิดจริยา ต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
(2) ปลดจากตำแหน่งหน้าที่
(3) ตำหนิโทษ
(4) ภาคทัณฑ์
ข้อ 55 การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่นั้น จะทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง แม้ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่
(2) ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเกินกว่า 30 วัน
(3) ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์ และการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
(4) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
(5) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดรายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนและได้ความจริงตามรายงานนั้นแล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งสั่งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ได้
นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ป.ธ.9
รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
16.07.2568