วาดเส้น เติมสีสันกับ PEPPER.INKER สตูดิโอสักสุดสดใสของ ‘ชาช่า ริต์ตา‘ ที่ให้คุณค่ากับงานออกแบบ
ในยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญกับงานศิลปะ และเปิดกว้างเรื่องเสรีภาพบนร่างกายมากขึ้น ‘การสัก’ จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกตั้งคำถามอีกต่อไป
สิ่งนี้กลายเป็นภาษาศิลป์บนร่างกายที่เล่าเรื่องราวเจ้าของผิวผ่านรอยหมึกที่ถูกย้ำด้วยเข็มนับร้อยครั้ง รอยหมึกที่ช่างสักบรรจงลากเส้นให้เป็นลาย
เช่นเดียวกับวลี ‘Your Tattoo Your Story’ ที่ ชาช่า–ริต์ตา รามณรงค์ เจ้าของสตูดิโอสัก PEPPER.INKER ให้คำนิยามกับงานสักว่าเป็นเสมือนตัวแทนที่เล่าเรื่องราวของคนคนหนึ่งผ่านงานศิลปะบนร่างกายได้
สตูดิโอสัก PEPPER.INKER เป็นธุรกิจล่าสุดของชาช่าที่เกิดจากการใส่ส่วนผสมความเป็นตัวเองและความชื่นชอบศิลปะในอัตราส่วนพอดิบพอดี เกิดเป็นสตูดิโอสักที่มีสไตล์ชัดเจนไม่ซ้ำใครตั้งแต่ประตูทางเข้าจนถึงเตียงสัก
นอกจากการให้คุณค่ากับงานออกแบบทั้งบนผิวหนังและผนังสตูดิโอแล้ว อีกสิ่งที่ชาช่าให้ความสำคัญและทำมาตลอดคือการดูแลลูกค้าอย่างดี ตั้งแต่เริ่มพูดคุยไปจนถึงช่วงหลังการสักอย่างดีที่สุด ด้วยเชื่อว่าจะเป็นการสร้างมาตรฐานและบริการที่ดีของสตูดิโอได้
หลังจากที่ PEPPER.INKER ได้เติบโตมาเป็นอย่างดีกับขวบปีที่ 6 ฝากผลงานการสักนับพันชิ้นบนเรือนร่างของผู้คนหลากหน้าหลายตา ชวนให้เราอยากรู้ถึงเรื่องราวในแต่ละก้าวการเติบโตของสตูดิโอสักแห่งนี้ที่ยังคงฮิตติดกระแสมาตลอดตั้งแต่เปิดสตูดิโอในวันแรก
อย่างที่รู้กันดีว่าคุณมีหลายบทบาท ทั้งนักร้อง นักแสดง และนักสะสม ในวันนี้ที่คุณก้าวเข้ามาเป็นนัก ‘สัก’ ประตูสู่บทบาทใหม่นี้ถูกเปิดได้ยังไง
ช่าทำออกแบบกราฟิกมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว เราพยายามเรียนรู้และขวนขวายด้วยตัวเองแล้วลงมือทำเลย ช่วงนั้นช่าทำแบรนด์ด้วย เป็นแบรนด์พินหรือเข็มกลัด ชื่อว่า Project number 92 แล้วก็มีรับออกแบบโลโก้ของแบรนด์ต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ตอนนั้นเราทำเพราะเรามีความสุขและสนุกมาก เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบและทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง แล้วมันยิ่งทำให้ลายเส้นของเราเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีความคิดที่จะเป็นช่างสัก ยังรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัว
ครั้งแรกที่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสักมันเกิดจากแฟนของชาช่าไปสัก แล้วเรารู้สึกว่ามันเท่ดี เลยเริ่มสนใจ บวกกับเราทำออกแบบกราฟิกอยู่แล้วเลยคิดว่ามันน่าจะเอามาลิงก์กันได้ แต่ตอนนั้นภาพมันก็ยังไม่ชัดนะ แค่รู้สึกว่าอยากลองดูและมันน่าจะสนุกดี
หลังจากมีความคิดนี้ช่าก็เริ่มเสิร์ชหาโรงเรียนสอน จนมาเจอโรงเรียนของครูที่ตอนนี้เป็นหนึ่งในช่างสักของสตูฯ เราด้วย สมัยนั้นมันเป็นยุคที่ยังสักด้วยเครื่องคอยล์อยู่ เครื่องมันค่อนข้างหนักและเลอะมือ สักเสร็จแล้วมือดำปิ๊ดปี๋เลย บวกกับโรงเรียนค่อนข้างไกลมาก เราก็ไปเรียนได้ประมาณ 2 ครั้ง แล้วเลิกไป
ในเมื่อยอมแพ้ไปแล้ว อะไรทำให้คุณกลับมาจริงจังกับการสักจนเปิดสตูฯ ของตัวเอง
มีเพื่อนของช่าคนหนึ่ง เขาเป็นคนที่บอบบางมากแล้วตอนนี้มีรอยสัก มันเลยจุดประกายให้เราว่าถ้าเขาสักได้ เราก็ต้องสักได้สิ เราเลยขอคุณแม่ไปสัก ซึ่งก็โน้มน้าวใจอยู่นานพอสมควร แต่ก็แอบไปสักจนได้เป็นรูปแอปเปิล มาจากชื่อคุณแม่
มันเป็นเหมือนไฟลต์บังคับที่คุณแม่ต้องยอม ทีนี้พอได้เห็นช่างสักอีกครั้งเลยยิ่งตอกย้ำว่าสิ่งนี้มันเท่มากและเราอยากทำ ช่าเลยตั้งใจกลับไปเรียนอีกครั้ง หลังจากเรียนจบเราก็หาที่แล้วก็เปิดร้านเลย
ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ตอนนั้นช่าเลยเปิดรับสักฟรีไปก่อนประมาณ 40-50 คน เราบอกลูกค้าว่าตรงนี้เราฝึกสักนะ ซึ่งลูกค้าก็โอเค จากนั้นเราก็สะสมเป็นผลงานลงบนไอจีมาเรื่อยๆ แล้วลายเส้นเราก็เริ่มชัดเจนขึ้น เราเลยรู้สึกว่าโอเค พร้อมแล้ว เลยเริ่มเปิดเป็นทางการ
วันนี้ที่ค่านิยมการสักเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น คุณมองว่าสิ่งนี้มีผลกับธุรกิจของคุณยังไงบ้าง
ช่ามองว่ามันทำให้งานสักดูน่ารักขึ้น คนยุคนี้เลยเปิดใจกับการสักมากขึ้นด้วย เพราะภาพลักษณ์ตอนนี้มันไม่ได้น่ากลัวเหมือนสมัยก่อน คนมองงานสักเป็นเหมือนงานศิลปะ ซึ่งมันค่อนข้างตรงกับสิ่งที่เราทำใน PEPPER.INKER ด้วยสไตล์งานออกแบบที่มันน่ารัก คนเลยกล้ามาสักกันมากขึ้นด้วย
อย่างที่ช่าบอกว่ามันไม่น่ากลัว สักแล้วมันไม่เจ็บเท่าที่คิด บางทีช่าสักแล้วลูกค้าหลับจนกรนเลยก็มี เพราะนอกจากจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักมือช่างสักแล้ว เครื่องมือและเทคนิคก็มีผลเหมือนกัน ตอนช่าไปสักครั้งแรกก็กลัวเหมือนทุกคนว่ามันจะเจ็บ เหมือนเรามีภาพจำแบบนั้นไป ซึ่งพอมันไม่เจ็บเท่าที่คิดแล้วทุกคนก็เริ่มสนใจงานสักมากขึ้น ทำให้กลายมาเป็นจุดขายของ PEPPER.INKER ด้วย
ทำไมต้องเป็นชื่อ PEPPER.INKER
ชาช่ามองว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็น PEPPER.INKER มันมีจุดเชื่อมโยงมาจากความชอบของช่าเองทั้งหมดเลย
จริงๆ แรกสุดเลยชาช่าใช้ชื่อว่า Yellow Submarine เพราะว่าตอนนั้นชาช่าชอบเพลงของ The Beatles มาก หลังจากนั้น ทุกคนก็จะรู้ว่าชาช่าเป็นคนชอบสะสมตุ๊กตา แล้วเราไปเจอกับตุ๊กตา BJD ที่เป็นเรซิน แล้วตัวนี้เขาชื่อว่า Pepper Annie แต่ว่าตัวเขาใหญ่มาก ซึ่งเรารู้สึกไม่สันทัดตุ๊กตาใหญ่ เลยได้แต่เก็บชื่อเขามาชอบ พอดีกับที่เราไปได้ตุ๊กตาหมาป่าแวร์วูฟตัวหนึ่งมา เราก็ตั้งชื่อว่า Pepper เลย
ทีนี้ช่าก็เริ่มอยากเอาคำว่า Pepper ไปใส่ทุกอย่าง เพราะเราชอบคำนี้มาก ก็เลยลองวางคำเป็น Pepper Ink บ้าง Pepper Tattoo บ้าง หรืออะไรที่คำมันลิงก์กัน ก็เลยกลายเป็น PEPPER.INKER ที่ทุกคนรู้จักในทุกวันนี้
การนำความชอบของตนเองมาต่อยอดเป็นธุรกิจ คุณมองว่าสิ่งนี้ทำให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จยังไงบ้าง
ช่าว่ามันทำให้เรามีเอกลักษณ์และคนอื่นสามารถจำเราได้ อย่างการตกแต่งในสตูฯ ก็มาจากความชอบของเรานะ ตั้งแต่เรื่องโทนสีเลย ช่าเลือกใช้เป็นแม่สี 3 สี แดง เหลือง น้ำเงิน
มันมาจากการที่ช่าสักงานไปเรื่อยๆ แล้วเริ่มรู้สึกว่า 3 สีนี้สไตล์มันชัดดีและมันดูเป็นตัวเรา ช่ามองว่ามันมีเสน่ห์ เพราะแม่สีมันสามารถผสมแล้วกลายเป็นสีใหม่ๆ ได้ พอดึงตรงนี้มาต่อยอดเลยเป็นภาพจำ พวกเตียงสัก เก้าอี้ที่นั่งก็สั่งทำให้เป็นโทนนี้ เพราะช่าอยากให้มันพิเศษและเป็นแบบของเราโดยเฉพาะ
หรืออย่างการมีของเล่น ของสะสมที่คนมาสักหรือดูตามโซเชียลฯ ของชาช่าเขาจะจำได้กัน อันนี้เราเอามาจากบ้านเลย แล้ววางไว้แทบทุกอณูในสตูฯ เพราะช่ารู้สึกว่ามันคือตัวตน เราชอบอะไรที่มันมองแล้วมัน nostalgic มันทำให้เรานึกถึงตอนเด็กๆ แล้วช่างสักในร้านคนอื่นก็ชอบสะสมของเล่นเหมือนกันมันเลยดึงดูดกันโดยอัตโนมัติ ช่าเลยทำเป็นตู้โชว์ของเล่นและของสะสมในสตูฯ เพราะเราให้คุณค่ากับมัน เราตั้งใจเก็บและจำได้ทุกตัว
เรามองว่าทั้งหมดนี้มันเป็นข้อดีมากๆ เพราะลูกค้าที่มาเขาให้ความสนใจและชมสตูฯ เราว่าน่ารักจังเลย เราแฮปปี้มากที่เขาชอบในสิ่งที่เราทำ แล้วอย่างที่เราบอกว่าบางคนยังมีความกลัวการสักอยู่ พอเราตกแต่งแบบนี้มันช่วยให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายขึ้นด้วย เหมือนมาร้านขายของเล่น หรือว่ามิวเซียมของสะสม เขาก็จะชิลล์เวลานอนสัก บางทีก็มีมองของเล่นไปด้วย จริงๆ ก็เหมือนเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ทำให้ความเครียดความกลัวมันน้อยลง เพราะยิ่งเราเครียดมันจะยิ่งรู้สึกเจ็บ
กลายเป็นว่าระหว่างสักก็มีเรื่องให้ชวนคุยกันด้วย มันยิ่งผ่อนคลายมากขึ้นทั้งช่างสักและลูกค้า เหมือนเป็นตัวเริ่มต้นบทสนทนา พอเราคุยกันไปก็จะได้แลกเปลี่ยนกันมากขึ้น เรื่องอะไรใหม่ๆ บางเรื่องช่าก็ได้เรียนรู้จากลูกค้า บางคนก็เล่าเรื่องปรับทุกข์ ชาช่าว่ามันช่วยบำบัดผู้คนเหมือนกัน
การได้คุยกัน ได้ฟังกัน มันได้แลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ ได้ มันดีเลย
คิดว่าสิ่งที่ชูความเป็นตัวตนของ PEPPER.INKER ให้แตกต่างไปจากเจ้าอื่นคืออะไร
PEPPER.INKER ให้ความสำคัญกับการออกแบบ ช่าจะคุยกับลูกค้าอย่างละเอียดก่อนเสมอว่าเขาอยากได้อะไร และแนวไหน เราก็กรุ๊ปทั้งหมดให้ ซึ่งหลังจากตรงนี้คนอื่นอาจจะออกแบบมาก่อนตามลูกค้าบอกมา แต่ของช่าคือเราจะรอเจอลูกค้าที่สตูฯ ก่อนแล้วค่อยออกแบบ
เราจะมาคุยกันก่อนสักทุกครั้ง และคอยอธิบายกับลูกค้าว่าอันนี้ออกแบบตามที่ต้องการนะ ลูกค้าชอบไหม หรืออยากปรับตรงไหน เราก็จะทำตอนนั้นเลย เพราะเราให้คุณค่ากับการออกแบบผลงานมาก มันต้องอยู่บนร่างกายเขา เราเลยให้ความสำคัญกับคนที่มาสักทุกคนและต้องการทำสิ่งนี้ให้ออกมาดีที่สุด มันคือ special moment ของเขา
ทำไมต้องออกแบบหลังจากคุยที่สตูดิโอเท่านั้น
ด้วยความที่คอนเซปต์ของ PEPPER.INKER คือ ‘Your Tattoo Your Story’ ช่าเชื่อว่าทุกคนมีเรื่องราวของตนเอง นั่นคือสาเหตุที่ทำไมเราต้องออกแบบงานใหม่ตลอด เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนชอบสิ่งเดียวกัน ชาช่าเลยจะออกแบบเมื่อลูกค้ามาถึงเท่านั้น ซึ่งช่าจะดูประกอบไปกับลักษณะของเขาด้วย การออกแบบมันจะเข้ากับสไตล์ลูกค้ามากขึ้นด้วย
หมายความว่าบางคนเป็นผู้หญิงห้าวๆ มา เราคงไม่ใส่แบบสีหวานๆ ให้เขาทำนองนี้ ช่าว่ามันเป็นเสน่ห์ของการได้เจอและพูดคุยกันก่อน
สตูฯ เรามีช่างสัก 3 คนที่สไตล์จะต่างกันออกไป คนแรกก็ครูของชาช่าที่สอนสักให้ ครูจะรับเป็นงานสไตล์ไล่แสงเงา งานดอกไม้ แล้วก็รับเป็นงานที่ยากๆ เช่น งานแก้ งานกลบสี ส่วนอีกคนเป็นเพื่อนของชาช่าที่สนิทกันมาตั้งแต่ทำพินเลย คนนี้จะเป็นงานกราฟิกที่น่ารักแบ๊วๆ มีความเป็นการ์ตูน ส่วนชาช่า สไตล์กราฟิกก็จะเป็นแนวน่ารักแบบซนๆ เวลาคุยกับลูกค้าก็จะค่อนข้างชัดว่าสไตล์ไหนเหมาะกับลูกค้าคนไหนด้วย
กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาสักกับ PEPPER.INKER เป็นคนที่มีความชอบสไตล์ไหน
กลุ่มลูกค้าของที่นี่มีหลายช่วงวัยมาก มีตั้งแต่วัยรุ่นอายุ 20 ปีจนถึงวัยเกษียณ 60 ปีก็มี เพราะว่าบางคนเขาชอบสไตล์นี้ เขาอยากสักแนวนี้ เขาก็มาหาเรา ส่วนมากที่มาก็จะเป็นคนที่สักครั้งแรก เพราเขารู้จักเราและเห็นโซเชียลฯ ที่เราลงตลอด เขาก็มั่นใจและไม่กลัว เหมือนเขาตั้งใจมากันอยู่แล้ว
ส่วนมากลูกค้าจะมีสไตล์ที่ชัดมาก ว่าชอบผลงานของสตูฯ เรา บางคนใส่แว่นน้ำเงินแดงเหลืองมาเลย เขาตั้งใจใส่มาวันนี้ให้เห็นเลย มันเลยทำให้เราเห็นว่าคนที่เขาชอบงานเราเขาก็ต้องเป็นสไตล์แบบเรา แต่ก็มีบางคนนะที่ดูไม่ใช่สไตล์เราเลย ก็เลือกมาสักงานเรา
จริงๆ ผู้ชายมาสักกับชาช่าเยอะนะ ตอนแรกช่าจะคิดว่าเขาจะมารอแฟน แต่เขาตั้งใจมาสักกับเราเลย ช่าก็จะออกแบบให้งานมันแมนขึ้น อาจจะไม่ใส่ความน่ารักลงไป แต่ว่าเราก็ยังคงให้มีความสดใสสไตล์เราอยู่ ช่าเลยคิดว่าคนมาสักกับชาช่าก็ต้องมีความสดใสอะไรบางอย่างในตัว ไม่ว่าจะการแต่งตัว หรือความชอบสีสัน แบบนี้มันเห็นได้ชัดเลย
สิ่งที่ทำให้ PEPPER.INKER ยืนอย่างมั่นคงมาถึงทุกวันนี้คืออะไร
ช่าว่านอกจากเราทำด้วยความชอบของเราแล้ว เรื่องการโปรโมตก็สำคัญมาก อย่างเราก็ใช้ TikTok ทำคลิปเพื่อให้คนรู้จักเรามากขึ้น เพราะว่าเดี๋ยวนี้คนเข้าถึงกันง่ายขึ้นมากๆ มันเป็นตัวเชื่อมระหว่างเขาและเราให้รู้จักพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น
คลิปของช่าจะบอกทุกอย่าง เราจะบอก จะแนะนำอะไร ก็จะพูดในคลิปเลย แสดงให้เห็นทั้งวิธีการเลือกลาย อุปกรณ์ที่ใช้ เวลาคนมาดูก็จะได้หลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่รับรู้ว่านี่คือร้านสักเท่านั้น
แล้วการให้คุณค่ากับผลงานก็สำคัญ คือช่ามีความรู้สึกว่าเราไม่ชอบให้ใครมาก๊อปผลงานเรา ช่าก็เริ่มจากการให้คุณค่ากับสิ่งนี้ เราออกแบบเองทั้งหมด มันเลยมีความเป็นออริจินอลมาก แต่บางทีเราก็เจอการก๊อปงาน แต่ก็เข้าใจว่ายังมีบางส่วนที่ยังไม่ตระหนักถึงตรงนี้มากพอ
คุณดูเป็นคนที่มีไฟในทุกๆ ธุรกิจที่ทำ เคยมีช่วงที่หมดไฟบ้างไหม แล้วจัดการกับช่วงนั้นยังไง
พอเราทำมาด้วยความชอบ เราก็กล้าตอบว่ายังไม่เคยมีนะ แต่มันก็มีช่วงที่เราต้องสะดุดอยู่เหมือนกัน คือช่วงโควิด-19 ตอนนั้นเราเคว้งเลย สตูฯ ต้องปิดไป 7 เดือน เพราะมันเป็นข้อบังคับให้ปิด แทบทุกร้านทุกธุรกิจได้ผลกระทบกันหมด ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น แต่ช่าโชคดีตรงที่ลูกค้าก็ยังเลือกที่จะรอ และไม่มีใครคืนมัดจำสักคน เราเลยรู้สึกโอเค เดี๋ยวเรารอสถานการณ์ดีขึ้น แล้วทยอยรวมทีมใหม่
อีกเรื่องคือเราไม่เคยคิดจะวางมือจากตรงนี้เพราะสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นเลย เรามองว่ามันคือความรับผิดชอบกับลูกค้าที่เคยจองไว้ด้วย มันเป็นความรับผิดชอบระยะยาว เพราะบางคนจองคิวกันเป็นปี เราเลยทำได้แค่รอสถานการณ์
จริงๆ ช่างสักในสตูฯ ก็เครียดกันนะ เพราะช่างบางคนไม่ได้ทำงานอื่น เราก็เลยยืดหยุ่น คืออยากทำอะไรเราเปิดกว้างเต็มที่ ไม่ต้องเข้างานทุกวัน มีคิวสักค่อยเข้ามา ซึ่งมันทำให้ช่างสักจัดการชีวิตตัวเองได้ ความเครียดก็น้อยลงด้วย เพราะไม่ต้องมานั่งรอลูกค้าทุกวัน เราตัดปัญหาการรับวอล์กอินไปเลย
มาถึงตรงนี้ คุณมองภาพในอนาคตของ PEPPER.INKER ไว้ยังไงบ้าง
เราอยากเปิดคอร์สสอนมาก ซึ่งก็มีรับสอนอยู่บ้าง แต่เราอยากปรับให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนยุคนี้มากขึ้น มีความเป็นเวิร์กช็อปมากขึ้น มีความมินิมอลที่เข้าถึงง่าย เพราะบางคนแค่อยากลองทำ แต่ไม่ได้อยากจริงจัง เราก็อยากตอบโจทย์กลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งช่าก็รอย้ายสตูฯ ใหม่ให้ทุกอย่างลงตัวขึ้นกว่านี้ แล้วค่อยเริ่มมาทำคลาส
แล้วก็อยากทำสิ่งที่ทำอยู่ต่อไปเหมือนเดิม อย่างตัว Flash Day ก็เป็นกิจกรรมที่ช่าจะออกแบบลายมาแล้วเปิดจองคิวให้คนสนใจมาสักได้เลยตามวันที่เราวางไว้ อันนี้เขาไม่ต้องไปรอคิว 1 ปี แต่สักได้เลย มันก็จะสนุกสำหรับเขาและสนุกสำหรับเราด้วย ซึ่งช่าจะวางไว้เป็น Flash Day ปีละ 2-3 ครั้ง
เรามองว่าเราก็อยากทำตรงนี้ไปอีกนานเลย จนแก่หรือจนจะปวดคอกว่านี้
ตลอดระยะเวลา 6 ปี คุณได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นทั้งเจ้าของและช่างสักของสตูดิโอ PEPPER.INKER บ้าง
อย่างแรก คือต้องรับผิดชอบต่องานทั้งหมดที่มีและพยายามทำให้มันดีที่สุด ในทุกกระบวนการเราต้องอธิบายทุกอย่างให้ลูกค้าฟังได้ทั้งหมด เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจที่สุด บางคนสีไม่ติด เราก็ต้องอธิบายว่าเกิดจากอะไร คือให้เขากังวลให้น้อยที่สุด
เพราะผลงานของเรามันอยู่กับเขาตลอดไป และเป็นเหมือนตัวแทน เวลาคนอื่นเห็นงานเราจากตัวเขา มันเป็นเหมือนชื่อเสียงของเราที่ออกไปเหมือนกัน
เรื่องต่อมา คืออย่าหยุดโปรโมต เราต้องทำคลิปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะพอเขามองเห็นเรา รู้จักเรา เขาก็จะจำเราได้ และเริ่มมีเราอยู่ในใจ แม้เขาจะไม่ได้สักวันนี้ แต่ถ้าในอนาคตเขาคิดถึงร้านสัก แล้วเขาเคยเห็นเราบ่อยๆ เขาก็มีโอกาสสักกับเราได้เหมือนกัน ซึ่งมันคือการไม่ปิดช่องทางของตนเอง
และสำคัญที่สุด คือเรื่องของมาตรฐาน ทุกอย่างที่เลือกใช้ต้องดี ได้มาตรฐาน และสะอาดมากๆ เพราะมันมีโอกาสติดเชื้อได้ ช่วงหลังจากการสักเราก็ต้องดูแลเขาให้ได้มากที่สุด ต้องบอกวิธีการดูแลอย่างละเอียด ช่าจะบอกลูกค้าเสมอเลยว่าถ้ามีปัญหาทักมาได้ตลอด เพราะสตูฯ เราเน้นเรื่องการดูแลเป็นพิเศษ
มีอะไรอยากบอกกับคนที่กำลังจะเริ่มลงมือทำธุรกิจไหม
ถ้าอยากทำก็ให้ทำเลย แต่ว่าควรจะเป็นสิ่งที่เราชอบ ถ้าเราไม่ชอบมันจะยากมากๆ เราอาจจะไม่อินกับมัน
สมมติมันเป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว ก็อยากให้ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะรู้ใจว่าเราอยากทำต่อไปไหม เพราะมันจะมีบางจุดที่เราอาจจะไม่อินแล้ว หรือความชอบเราเปลี่ยนไป แต่ช่าว่าถ้าตอนนี้ชอบและอยากทำก็ลุยไปเลย เพราะยิ่งเริ่มเร็วยิ่งมีโอกาสโตได้ไวขึ้น หรือถ้าเรารู้ใจตัวเองเร็วว่าเราอาจจะไม่ได้ชอบจริงๆ มันก็จะไม่เสียเวลาด้วย แล้วเราก็จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้ไวขึ้น
สำหรับคนที่สนใจวงการช่างสัก อยากให้ตระหนักในเรื่องของคุณค่าและให้ความสำคัญกับการออกแบบเอง เพราะช่าเชื่อว่าทุกคนที่ทำงานนี้ เราจะภูมิใจในการออกแบบของตนเอง และไม่อยากให้ไปก๊อปผลงานของใครเลย มันคือการให้เกียรติทั้งตนเองและลูกค้าด้วย
ที่สำคัญ อย่ากดความสามารถของตนเองด้วยราคาที่ต่ำเกินไป เพราะทุกผลงานมันมีคุณค่า อยากให้เชื่อมั่นในตนเองให้มากๆ