คนญี่ปุ่นแนะ! 4 อาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่สมดุลในฮอร์โมนเพศหญิง
ทุกช่วงชีวิตของผู้หญิงเรา หากร่างกายหลั่งฮอร์โมนเพศผิดปกติก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีความเครียดและผู้หญิงในช่วงวัยหมดประจำเดือน มารู้ผลกระทบของภาวะฮอร์โมนเพศไม่สมดุล และอาหารที่หากรับประทานเป็นประจำอาจทำให้เกิดความไม่สมดุลดังกล่าวได้ตามคำแนะนำชาวญี่ปุ่นกันค่ะ
ผลกระทบจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง
หากการหลั่งฮอร์โมนเพศไม่สมดุลก็จะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายดังนี้คือ มีอาการปวดหัว ผิวพรรณหยาบกร้าน ร่างกายบวม อ่อนเพลีย ประจำเดือนมาไม่ปกติ และประจำเดือนไม่มา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอาการทางจิตใจ เช่น หงุดหงิดกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปกติแล้วไม่สนใจ รู้สึกซึมเศร้าบ่อยขึ้น รู้สึกวิตกกังวล และนอนไม่หลับ เป็นต้น โดยอาการดังกล่าวจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากประสบปัญหาเหล่านี้ในระหว่างรอบเดือนที่เป็นปกติในผู้หญิงที่ไม่ถึงวัยหมดประจำเดือน ก็เป็นไปได้ว่าบุคคลนั้นอาจมีไลฟ์สไตล์และการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หรืออาจมีความเครียดมากเกินไป การปรับปรุงไลฟ์สไตล์รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิดที่ชักนำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนจะเป็นวิธีการที่ดีที่ช่วยขจัดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้
อาหารและเครื่องดื่มที่ชักนำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง
1. น้ำตาลในน้ำผลไม้และขนม
น้ำตาลขัดขาวในขนมและน้ำผลไม้หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นและลดต่ำลงจนเกิดความผันผวนของระดับน้ำตาลในเลือดหลายครั้งต่อวัน ส่งผลให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งจะทำให้ร่างกายเครียดและส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนได้ ทั้งนี้มีงานวิจัยยืนยันว่าผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และกลุ่มอาการผิดปกติทางเมตาบอลิกมีอาการร้อนวูบวาบในสตรีวัยหมดประจำเดือน
2. อาหารรสเผ็ดจัด
แม้ว่าอาหารรสเผ็ดที่มีพริกเป็นส่วนประกอบจะทำให้เหงื่อออกและรู้สึกสดชื่นเมื่อรับประทานเข้าไป แต่หากรับประทานเผ็ดเกินไปก็อาจทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เครียดจนส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนได้ นอกจากนี้ รสเผ็ดจากพริกยังเกี่ยวข้องกับอาการร้อนวูบวาบซึ่งมักเกิดขึ้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอีกด้วย
3. แอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะอาจส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น ช่วยให้ผ่อนคลาย แต่การดื่มในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิงได้ โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้อาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome, PMS) รุนแรงขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดอาการร้อนวูบวาบที่รุนแรงขึ้นด้วย
4. เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และชา เป็นต้น มีผลในการกระตุ้นระบบประสาท ซึ่งอาจส่งผลต่อสมดุลของฮอร์โมนและทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอารมณ์ได้ การดื่มกาแฟมากกว่า 5 แก้วต่อวันถือเป็นปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นควรลดปริมาณให้ไม่เกินวันละ 2 แก้ว
ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย วิธีการที่ดีในการคงความสมดุลของฮอร์โมนเพศไว้คือ การไม่สะสมความเครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีคุณค่าสารอาหารที่ครบถ้วนสมดุล และเลือกรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศดังกล่าวในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากจนเกินไปค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: yogajournal.jp