“มะเร็งรังไข่” ภัยเงียบของผู้หญิง! รู้ทัน ป้องกันได้ เช็กสัญญาณเตือนระยะแรก
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “รังไข่” คือ อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงที่ทำหน้าที่สร้างไข่และฮอร์โมนเพศหญิง เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในช่องท้องอยู่ติดกับมดลูกและมี 2 ข้าง โรคที่เกิดขึ้นที่รังไข่ โดยเฉพาะโรคมะเร็งเป็น "ภัยเงียบ" เนื่องจากมักไม่มีอาการแสดงที่จำเพาะเจาะจง นอกจากนี้มะเร็งรังไข่ยังเกิดได้ทุกช่วงวัย มักพบมากในช่วงอายุ 50-60 ปี
จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ Cancer In Thailand Vol. XI ปี 2019– 2021 พบว่าอุบัติการณ์โรคมะเร็งรังไข่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 3,000 รายในประเทศไทย แม้มะเร็งรังไข่จะพบบ่อยเป็นอันดับสามรองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งมดลูก แต่ก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดในมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เนื่องจากโรคมะเร็งรังไข่มักไม่มีอาการที่ชัดเจน
สัญญาณเตือนโรคมะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มแรก
ได้แก่ อาการท้องอืด แน่นท้อง ปวดท้อง รับประทานอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็ว ท้องโตกว่าปกติ บางรายที่มะเร็งมีการลุกลามอาจคลำได้ก้อนที่ท้องหรืออุ้งเชิงกราน หรือมีภาวะท้องมาน ดังนั้นหากคุณมีอาการเหล่านี้แทบทุกวันหรือนานเกิน 2-3 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
สาเหตุการเกิดมะเร็งรังไข่
เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุการเกิดมะเร็งรังไข่พบว่ามาจากหลายปัจจัย เช่น อายุที่มากขึ้น ภาวะอ้วน ภาวะมีบุตรยาก ประจำเดือนเร็ว หมดประจำเดือนช้า การสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังพบบ่อยในกลุ่มโรคมะเร็งเต้านมและรังไข่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (hereditary breast and ovarian cancer syndrome: HBOC) สัมพันธ์กับยีน BRCA
ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซม DNA หากยีนนี้กลายพันธุ์ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านมอย่างมีนัยสำคัญ หากตรวจพบยีนดังกล่าวในผู้ที่เป็นมะเร็งหรือสมาชิกครอบครัว จะมีการเฝ้าระวังที่ถี่ขึ้น หรือวางแผนการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งในอนาคตได้
แพทย์หญิงวรางคณา โกละกะ แพทย์เฉพาะทางสาขามะเร็งวิทยานรีเวช สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพในระดับประชากรทั่วไป หรือแม้แต่การตรวจค่าสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ก็ยังไม่มีความแม่นยำนัก ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคขึ้นกับ อาการที่ผิดปกติร่วมกับผลตรวจภาพถ่ายทางรังสี การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตามข้อบ่งชี้ และการผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งออกและเพื่อกำหนดระยะโรค
ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติใด ควรเข้ารับคำปรึกษาและตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวช เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจภายในหรือตรวจภาพถ่ายวินิจฉัยอื่นๆเพิ่มเติม การรักษาหลักในมะเร็งรังไข่ ได้แก่ การให้เคมีบำบัด การให้ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) ตามข้อบ่งชี้ หรือ การผ่าตัดและให้ยาเคมีบำบัดในช่องท้อง ซึ่งเป็นความหวังใหม่ในการรักษา เนื่องจากช่วยเพิ่มระยะเวลาโรคสงบ และอัตรารอดชีพได้ดี
การป้องกันมะเร็ง
การป้องกันมะเร็งที่ดีที่สุดคือการรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเข้ารับการตรวจสุขภาพ รวมทั้งการตรวจภายในประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และหากมีอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว หากท่านมีข้อสงสัย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติผ่านทาง Facebook : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute และ LINE : NCI รู้สู้มะเร็ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "มะเร็งปอด VS วัณโรคปอด" ต่างกันอย่างไร? เช็กอาการ มีสัญญาณเตือนอะไรบ้าง
- 5 ปัจจัย คนไทยอายุต่ำกว่า 50 ปีป่วย "มะเร็ง" มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2 เท่า
- เช็กด่วน! สัญญาณเตือนอาจเป็น "มะเร็ง" ได้ใน 6 เดือน อาการอะไรบ้างที่ต้องจับตา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เติร์ด Tilly Birds ร่ายยาวขอโทษบุคลากรทางการแพทย์ เรื่องอาการป่วยคุณแม่
- "รักแร้ดำ" อาจไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม แต่เป็นสัญญาณการเกิดโรค
- ทำตามคำสั่งเสีย! บอย ปกรณ์ พา แม่งามทิพย์ กลับมาอยู่ที่บ้านเคียงข้างคุณพ่อแล้ว
- ครอบครัวฉัตรบริรักษ์ นำเถ้าอัฐิ แม่งามทิพย์ ทำพิธีลอยอังคารที่เดียวกับคุณพ่อ
- วันนึงหนูจะเข้าใจ บอย ปกรณ์ เผยความรู้สึกจากใจคุณแม่ถึง น้องวันใหม่