สพฐ.สั่งการด่วนรับมือ “พายุวิภา”
22 ก.ค. – สพฐ.สั่งการด่วนรับมือ “พายุวิภา” กำชับเขตพื้นที่เฝ้าระวัง ดูแลนักเรียน-ครูปลอดภัย พร้อมเตรียมลดภาระครู 52 รายการ ภายในสัปดาห์นี้
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 27/2568 โดยเน้นย้ำข้อสั่งการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ., นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ., นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า วันนี้มีเรื่องสำคัญที่เราได้หารือกันในที่ประชุม นั่นคือการเฝ้าระวังและรับมือพายุโซนร้อนกำลังแรง “วิภา (WIPHA)” ที่คาดว่าจะเคลื่อนผ่านจังหวัดน่าน เชียงราย และอุตรดิตถ์ ในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่ง ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีความห่วงใยนักเรียนและครูของเรา และฝากเน้นย้ำให้ดูแลความปลอดภัยของทุกคน โดยเมื่อวานนี้ (21 ก.ค.) สพฐ. ได้ประชุมกับ ผอ.เขตพื้นที่ และสั่งการให้เขตพื้นที่ทางภาคเหนือและอีสานตอนบนจัดทำแผนเผชิญเหตุพร้อมเตรียมการรับมือพายุ เช่น เคลื่อนย้ายทรัพย์สิน หนังสือ อุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ต่างๆ ขึ้นที่สูง ตัดแต่งต้นไม้รอบโรงเรียน หากน้ำท่วมโรงเรียนให้ประสานการไฟฟ้าทำการตัดหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องไฟดูด ไฟเกิน ที่สำคัญหากน้ำท่วมเข้าโรงเรียน ให้สั่งปิดโรงเรียนทันที เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและครูทุกคน รวมถึงประสานกับ ปภ.จังหวัด ในการเตรียมแผนช่วยเหลือด้านอาหารหากนักเรียนหรือครูประสบภัยติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ต้องสำรวจความเสียหายด้านอาคารสถานที่ อุปกรณ์ไฟฟ้า หนังสือ สื่อการเรียนต่างๆ เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมให้กลับมาเรียนได้ตามปกติ
ประเด็นต่อมาคือเรื่องการลดภาระครูฯ ซึ่งผมได้มอบหมาย นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. กำหนดรายการเรื่องหรือโครงการที่ไม่ต้องปฏิบัติแล้ว โดยจะออกเป็นประกาศ สพฐ. เลยว่า รายการต่อไปนี้ 52 รายการ จากเดิม 114 รายการ ไม่ต้องรายงานมาที่ สพฐ. อีกต่อไปแล้ว ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ มีผลทันทีภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเป็นการลดภาระครูอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ส่วนการประเมิน ITA ได้ลดตัวชี้วัดจาก 28 เหลือ 17 ตัว และกำหนดให้ประเมินเฉพาะโรงเรียนมัธยมและโรงเรียนคุณภาพเท่านั้น ซึ่งทำให้โรงเรียนที่ต้องประเมินเหลือเพียงประมาณ 1,000 กว่าแห่ง จากทั้งหมด 29,005 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ สพฐ. จะประสานกับสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขอลดตัวชี้วัดเพิ่มเติมในอนาคต
“การลดภาระครูฯ เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ รมว.ศธ. ให้ความสำคัญ และตั้งใจที่จะลดภาระงานให้ครูทั่วประเทศอย่างแท้จริง เพื่อคืนครูสู่ห้องเรียน ให้ครูได้เต็มที่กับการสอน ซึ่งทาง สพฐ. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะยังคงมอบหมายให้ ผอ.สำนักต่าง ๆ พิจารณาโครงการที่สามารถลดหรืองดได้เพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นได้ลดแล้ว 52 โครงการ และจะทยอยลดอีกอย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศอย่างเป็นทางการให้ครูทั่วประเทศรับทราบต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว.-416- สำนักข่าวไทย