‘กรมการจัดหางาน’ ลุยเอาผิดเจ้าหน้าที่เอี่ยวเก็บค่าหัวคิวต่างด้าว
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สืบสวนและจับกุมเครือข่ายนายหน้าเก็บค่าหัวคิวแรงงานต่างด้าวที่ขอต่อใบอนุญาตทำงาน พบความเชื่อมโยงนายหน้าทั้งจากฝั่งกัมพูชาและฝั่งไทย ว่า ขณะนี้รอผลการตรวจสอบที่ชัดเจนจากดีเอสไอ หากพบความเชื่อมโยงเส้นทางการเงิน ว่ามีเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จำเป็นต้องตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้งเพื่อลงโทษต่อไป สำหรับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย นายจ้างสามารถดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตด้วยตนเอง หรือใช้บริการบริษัทนำเข้าแรงงานที่ได้รับการอนุญาต โดยจะมีการเรียกเก็บค่าบริการเกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติของการดำเนินธุรกิจ จึงขอแนะนำนายจ้างหรือแรงงานต่างด้าวที่จะเลือกใช้บริการบริษัทนายหน้าในการขอใบอนุญาตทำงานหรือต่ออายุใบอนุุญาต ควรสังเกตที่ป้ายบริษัทว่ามีเลขที่ใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ และตรวจสอบได้จากกรมการจัดหางานว่าเป็นบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
นายสมชาย กล่าวอีกว่า สำหรับอัตราค่าบริการบริษัทนายหน้า หากเป็นการนำเข้าแรงงานประเภทเอ็มโอยูจะมีอัตราค่าบริการที่ควบคุมโดยกฎหมาย แต่หากเป็นการขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฎหมายตามมติ ครม. จะไม่มีการควบคุมกรอบเพดานค่าบริการไว้ แต่การเรียกเก็บค่าบริการก็ต้องเกิดความเป็นธรรม ย้ำว่าที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบบริษัทนายหน้ารับขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวต่อเนื่อง หากนายจ้างและแรงงานต่างด้างไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนให้เข้าไปตรวจสอบได้ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนก็จะดำเนินการตามกฎหมาย
"การขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางานให้นายจ้างสามารถดำเนินการได้เองผ่านระบบออนไลน์ แต่หากไม่สะดวกสามารถใช้เอเจนซี่หรือบริษัทนายหน้าที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแทนได้ ส่วนอัตราค่าบริการไม่มีการควบคุม เพราะไม่ใช่การนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยูที่จะมีราคาค่าบริการที่ควบคุมโดยกฎหมาย แต่ถ้าเป็นกลุ่มจดทะเบียนที่มีการผ่อนปรนก็สุดแล้วแต่ เพียงแต่ว่าคงต้องเกิดความเป็นธรรม อย่าไปเรียกเก็บแพง โดยนายจ้างและแรงงานต่างด้าวต้องดูเองว่าหากบริษัทนายหน้าใดแพง ก็อย่าไปทำ ก็ไปทำกับบริษัทที่เรียกเก็บค่าบริการที่ถูกเท่านั้น" นายสมชาย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนำเข้าแรงงานต่างด้าวประเภทเอ็มโอยูรายใหม่ อาจจะไม่มีปัญหาในลักษณะนี้ เพราะเป็นการนำเข้าในลักษณะรัฐต่อรัฐ แต่แรงงานที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ และได้รับการผ่อนปรนให้ทำงานต่อ จะต้องดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงาน ซึ่งปีนี้ เปิดให้ต่อใบอนุญาตในลักษณะเอ็มโอยู ทำให้แรงงานจะต้องยื่นบัญชีรายชื่อและขออนุมัติจากประเทศต้นทาง จากเดิมที่จะมีการเปิดขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จในไทย ซึ่งทางการเมียนมาเข้ามาตั้งจุดให้บริการแรงงานเมียนมาในไทย แต่กัมพูชา ลาว และเวียดนาม จะต้องเดินทางกลับไปดำเนินการที่ประเทศต้นทาง จึงอาจเป็นช่องทางให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าว เลือกใช้บริการบริษัทนายหน้าในการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงาน โดยค่าใช้จ่ายเป็นการตกลงกันระหว่างบริษัทกับนายจ้างและแรงงาน ไม่มีกฎหมายกำหนดควบคุมราคาบริษัทกลุ่มนี้ จึงอาจเป็นช่องโหว่ให้มีการเรียกค่าใช้จ่ายเกินจริง และเกิดการหักหัวคิวเกิดขึ้น.