รีวิว Nothing Headphone (1) หูฟังสวมใหม่ สเปกจัดเต็ม!
กลับมาพบกับรีวิวจาก Sanook Hitech อีกครั้ง รอบนี้ใครเป็นคอหูฟัง Headphone ที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร แต่คุณภาพเสียงต้องดี! ในราคาสมเหตุผล วันนี้พบกับ Nothing Headphone (1) หูฟังใหม่ที่มีการจับมือกับ KEF อีกแบรนด์เครื่องเสียงที่มีคุณภาพจากอังกฤษ สร้างสรรค์หูฟังนี้ออกมา ในราคาที่ใช่สำหรับคุณ แต่จะดีจริงไหมมาดูกันเลยได้
สำหรับการแกะกล่องสามารถอ่านต่อได้ที่ : แกะกล่องก่อนรีวิว Nothing Headphone (1) หูฟังอินดี้สเปกแน่นๆ
ข้อดี / ข้อสังเกต
จุดเด่น ข้อสังเกตุ ออกแบบสวยไม่เหมือนใคร น้ำหนักเยอะ เสียงดีทั้งฟัง และ ใช้คุย กระเป๋าเก็บเปื้อนและทำความสะอาดยาก Apps ลูกเล่นเยอะปรับได้ครบ บริเวณครอบหูเป็นรอยง่าย แบตเตอรี่อึดมาก ไม่ทิ้งช่องเสียบ 3.5 มม.
ดีไซน์ / การสวมใส่ Nothing Headphone (1)
ก่อนอื่นเรามาพูดถึงการออกแบบNothing Headphone (1) เป็นหูฟังที่มีขนาดใหญ่มีการออกแบบที่โดดเด่น โดยใช้แนวคิด "Transparent Design" หรือ "การออกแบบที่โปร่งใส"ในการออกแบบนี้คือการเผยให้เห็นส่วนประกอบและโครงสร้างภายในของอุปกรณ์ ซึ่งเป็นความตั้งใจของแบรนด์ที่จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับเทคโนโลยีให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยมีหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ
Weightless (ไร้น้ำหนัก): การออกแบบจะตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อมุ่งเน้นที่ฟังก์ชันการใช้งานหลักอย่างแท้จริง
Effortless (ไม่ซับซ้อน): สร้างประสบการณ์ที่ใช้งานง่ายและเป็นธรรมชาติมากที่สุด
Timeless (เหนือกาลเวลา): การออกแบบที่เรียบง่ายแต่โดดเด่น ไม่ยึดติดกับกระแสแฟชั่นเพียงชั่วคราว
โดยกรอบหูฟังเป็นแบบใสและยังสามารถสั่งงานด้วยการกดปุ่มที่อยู่ด้านข้างรอบตัว เพราะไม่ต้องการให้ปุ่มไปอยู่ที่อยู่ในจุดในการออกและดูไม่สวยงาม ที่เห็นหูฟังใหญ่ขนาดนี้เพราะมีขนาด Driver 40 mm. และยังมาพร้อมกับนวมที่มีความแน่นกำลังดี การแยกฝั่ง จริงใจมาก เพราะใช้คำว่า Left และ Right พอร์ตมาครบจะประกอบด้วย
- ฝั่งขวา : ปุ่มควบคุม (ปรับระดับเสียง, เล่นเพลง, ควบคุมระบบ ANC), ปุ่มเปลี่ยน Track พอร์ตครบทั้งUSB-C, AUX 3.5 mm. และยังมีปุ่ม เปิด / ปิดด้านล่างด้วย พร้อมกับไมโครโฟนทั้งหมด 3 จุดและด้านหน้าจะมีปุ่มสั่งงานที่ตั้งค่าตามที่คุณต้องการได้จากใน Apps Nothing X
- ฝั่งซ้าย : ไม่มีปุ่มแต่จะมีไมโครโฟน 3 ตัว เท่ากับหูฟังนี้จะมีไมโครโฟน 6 ตัว
Nothing Headphone (1) จะมี 2 สีคือ สีขาว และ ดำ แต่ข้อสังเกตคือ นวมที่สัมผัสกับร่างกายทั้งหมดเป็นสีดำ
พูดดีไซน์จบไปแล้ว มาถึงการหยิบสวมใส่กันต้องบอกว่าหูฟัง Nothing Headphone (1) มีน้ำหนัก 329 กรัม เห็นตัวเลขต้องบอกว่า ค่อนข้างมาก แต่ด้วยการออกแบบค่อนข้างสมส่วนทำให้เวลาใส่ใช้งานนานๆ แล้วไม่ปวดคอเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ต้องบอกต่อไปนี้คือ เหงื่อถ้าเจออากาศร้อนก็จะเก็บเหงื่อนิดหน่อย แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะเข้าไปที่ลำโพง เพราะจากที่ได้ทดลองใช้งานข้างนอกนานๆ เหงื่อจะอยู่บริเวรรอบๆ กับมาตรฐานกันน้ำ IP52 เท่ากับหูฟังในกลุ่มนี้ที่มักจะทำได้เท่านี้
ฟีเจอร์โดดเด่นของ Nothing Headphone (1)
คุณภาพเสียงและไมโครโฟน
พูดถึงเรื่องเสียงกันบ้างสำหรับ Nothing Headphone (1) ได้ Driver 40 มิลลิเมตร ปรับจูนโดย KEF ที่เหมาะกับการฟังแบบสมดุลมากกว่า แต่ถ้ารุ่นนี้ดีเพราะว่ามีการปรับเบสได้เยอะขึ้น แนะนำว่า เพิ่มสัก 2 พอครับ และนอกจากนี้ข่าวดี สำหรับผู้ใช้ Android ที่มีไฟล์เพลงคุณภาพสูงหรือใช้บริการสตรีมมิ่งที่รองรับ จะสามารถฟังเพลงในระดับ Hi-Res Audio ผ่าน Codec LDAC ได้ ทำให้ได้ยินรายละเอียดเสียงที่ครบถ้วนยิ่งขึ้น
ถ้ายังไม่พอใจแล้ว ในแอปพลิเคชัน Nothing X มี Equalizer แบบ 8-band ให้ปรับแต่งเสียงได้ละเอียดตามความชอบ โดยสามารถปรับได้ทั้งแบบคนที่เริ่มต้นอยากปรับแต่งด้วยรูปแบบวงกลมที่แบ่งเป็น 3 ขา (เบส, แหลม และเสียงร้อง) หรือจะเอาแบบยากระดับคลื่นความถี่ ก็ทำไ้ด
ส่วนระบบไมโครโฟนถ้าไม่ได้ใช้งานพูดคุย ก็สามารถบล็อกเสียงได้ดีเสียงลมและสภาพแวดล้อมเข้ามาน้อย บางทีต้องกดลดระดับเองเพราะถ้าอยู่ข้างนอกถ้าเงียบไปอันตรายแน่นอ ทั้งนี้ Nothing มีการออกแบบให้ระบบ ANC ปรับเองได้ด้วยนะ ซึ่งก็ทำให้เสียงภายนอกเข้ามาได้บ้าง แต่ยังไม่เท่ากับโหมดให้เสียงภายนอกเข้ามา แต่ที่ต้องชมเชยคือ เมื่อต้องใช้คุย ค่อนข้างกรองเสียงรบกวนได้ดี ไม่มี Noise เข้ามา ด้วยเทคโนโลยี ClearVoice แต่ถ้ามีคนพูดข้างๆ ระยะไม่ไกลมาก จะยังเก็บเข้ามาอยู่
App Nothing X
เบื้องหลังความเทพของ Nothing Headphone (1) นั้นจะต้องยกคุณงามความดีให้ App ตัวเก่งอย่าง Nothing X ที่ออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายปรับได้เยอะทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น
1. การปรับแต่งเสียง (Audio Customization)
นี่คือหัวใจหลักของแอปเลยก็ว่าได้ ซึ่งให้คุณปรับจูนเสียงได้อย่างละเอียดและหลากหลายมาก
Equalizer (EQ): ให้คุณเลือกเสียงได้ตามใจกับการปรับได้ทั้งหมด 2 รูปแบบได้แก่
โหมดง่าย (Simple): มีโปรไฟล์เสียงสำเร็จรูปให้เลือก เช่น Balanced (สมดุล), More Bass (เน้นเบส), More Treble (เน้นเสียงแหลม), Voice (เน้นเสียงพูด) และสามารถเลื่อนปรับระดับ เบส-กลาง-แหลม ได้ง่ายๆ
โหมดขั้นสูง (Advanced): เป็น Parametric EQ แบบ 8-band ที่ให้อิสระในการปรับแต่งย่านความถี่ต่างๆ ได้อย่างละเอียดและแม่นยำระดับมืออาชีพ แถมยังสามารถแชร์โปรไฟล์ EQ ที่ตั้งค่าไว้ให้เพื่อนได้ด้วย
Bass Enhance (เพิ่มพลังเบส): เป็นฟังก์ชันแยกสำหรับเพิ่มเสียงเบสโดยเฉพาะ สามารถปรับระดับความหนักของเบสได้หลายระดับตามความชอบ
Spatial Audio (ระบบเสียงรอบทิศทาง): สามารถเลือกเปิด-ปิด หรือตั้งค่าได้ 3 รูปแบบ คือ Off (ปิด), Fixed (จำลองเสียงรอบทิศทางแบบคงที่) และ Head-tracking (เสียงจะเปลี่ยนทิศทางตามการหันศีรษะของเรา)
2. การควบคุมระบบตัดเสียงรบกวน (Noise Control)
คุณสามารถจัดการโหมดการฟังได้อย่างสมบูรณ์ผ่านแอปได้สมบูรณ์แบบไม่ว่าจะเป็น
สลับโหมด: เลือกระหว่าง
Noise Cancellation (เปิด ANC): โหมดตัดเสียงรบกวน
Transparency (โหมดโปร่งใส): รับฟังเสียงจากภายนอก
Off (ปิด): ปิดทั้งสองโหมดเพื่อประหยัดแบตเตอรี่
ปรับระดับ ANC: สามารถเลือกระดับความแรงของการตัดเสียงรบกวนได้ 4 ระดับ คือ Low, Mid, High และ Adaptive ที่จะปรับความแรงให้อัตโนมัติตามความดังของสภาพแวดล้อม
3. การปรับแต่งปุ่มควบคุม (Controls)
นอกจากฟังก์ชั่นพื้นฐานที่มีแล้ว Nothing X ยังออกแบบให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนคำสั่งของปุ่มกดต่างๆ บนตัวหูฟังได้ตามความถนัด เช่น ตั้งค่าให้การกดค้างเป็นการสลับโหมด ANC หรือการเรียกใช้งานผู้ช่วยเสียง (Voice Assistant)
แต่ถ้าใช้กับมือถือ Nothing จะสามารถตั้งค่า Channel HOP และ คุยสั่งงาน ChatGPT ได้ด้วย
4. การตั้งค่าทั่วไปและฟีเจอร์เสริม (Device Settings)
Firmware Update: อัปเดตเฟิร์มแวร์ของหูฟังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและรับฟีเจอร์ใหม่ๆ ในอนาคต
Over-ear Detection: ตั้งค่าเปิด-ปิดเซ็นเซอร์ตรวจจับการสวมใส่ ที่จะเล่น/หยุดเพลงอัตโนมัติเมื่อใส่หรือถอดหูฟัง
Dual Connection: จัดการการเชื่อมต่อหูฟังกับอุปกรณ์ 2 เครื่องพร้อมกัน (Multipoint)
Low Lag Mode: เปิดโหมดลดความหน่วงของเสียง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเล่นเกม
Find My Headphone: ฟีเจอร์สำหรับช่วยค้นหาตำแหน่งของหูฟัง กรณีที่ลืมวางทิ้งไว้
ดูสถานะแบตเตอรี่: หน้าแอปจะแสดงผลแบตเตอรี่คงเหลือของหูฟังอย่างชัดเจน
เรียกได้ว่าการใช้แอป Nothing X ควบคู่ไปด้วย จะทำให้คุณดึงศักยภาพของ Nothing Headphone (1) ออกมาใช้ได้ครบทุกฟังก์ชันเลย แต่จะแตกแค่มือถือค่ายอื่นกับ มือถือของ Nothing เองที่จะได้ฟีเจอร์แตกต่างกัน
อ้อ และยังรองรับ Microsoft Swift Pair สำหรับต่อกับคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการ Windows และ Google Fast Pair ต่อแล้วจำบัญชีเพื่อให้ต่อกับมือถือเครื่องอื่นๆ ได้รวดเร็วแถมจำค่าไม่ต้องตั้งค่าใหม่เมื่อย้ายอุปกรณ์
แบตเตอรี่ / ระบบชาร์จไฟ
แม้ว่าสิ่งที่บอกเรื่องน้ำหนักของหูฟังรุ่นนี้เยอะถึง 329 กรัม ส่วนหนึ่งก็เพราะ Nothing Headphone (1) ให้แบตเตอรี่จุใจถึง 1,040 mAh ทำให้ใช้งานได้ยาวนานมาก โดยระยะเวลาการใช้งานที่สามารถใช้งานเคลมไว้ดังนี้
เมื่อปิดระบบตัดเสียงรบกวน (ANC Off):
ใช้งานได้นานสูงสุด 80 ชั่วโมง (เมื่อฟังเพลงผ่าน Codec AAC)
ใช้งานได้นานสูงสุด 54 ชั่วโมง (เมื่อฟังเพลงผ่าน Codec LDAC)
เมื่อเปิดระบบตัดเสียงรบกวน (ANC On):
ใช้งานได้นานสูงสุด 35 ชั่วโมง (เมื่อฟังเพลงผ่าน Codec AAC)
ใช้งานได้นานสูงสุด 30 ชั่วโมง (เมื่อฟังเพลงผ่าน Codec LDAC)
โดยจากที่ทดลองใช้ก็สามารถใช้งานได้ยาวนาน แต่ถ้าเปิดฟังนานขนาดนี้อาจจะเสียสุขภาพได้ ดังนั้นก็แทบจะพูดได้ว่า มันอึดจนต้องร้องขอชีวิต
ส่วนระบบชาร์จไฟรองรับการเสียบ USB-C และรองรับกับโหมด Quick Charge ด้วยโดยความเร็วในการใช้พลังงานมีดังนี้
ระบบชาร์จเร็ว (Fast Charging): รองรับการชาร์จเร็วที่ช่วยให้ใช้งานต่อได้ในเวลาอันสั้น
ชาร์จเพียง 5 นาที สามารถฟังเพลงต่อได้นานถึง 5 ชั่วโมง (เมื่อปิด ANC)
หากเปิด ANC จะใช้งานได้ประมาณ 2.4 ชั่วโมง
ระยะเวลาชาร์จเต็ม: ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ในการชาร์จจาก 0% ถึง 100%
สรุปหลังลองใช้งาน Nothing Headphone (1)
มาถึงบทสรุปของ Nothing Headphone (1) เป็นอีกหูฟังไร้สายแบบครอบหัวที่ให้ฟีเจอร์เยอะเกินตัว ออกแบบบอกตัวตนของผู้ใช้งานที่ไม่อยากซ้ำใคร และ แบตเตอรี่อึด ทุกอย่างคุณได้จบหูฟังรุ่นนี้ดังนั้นถ้าใครชอบเดินทางไม่อยากชาร์จไฟหูฟังบ่อยๆ เอาคุณภาพเสียงเป็นที่ตั้ง เสียงปล่อยค่าเดิมก็ฟังได้ไม่ต้องปรับให้ปวดหัว นี่เป็นอีกหูฟังที่ใช่สำหรับคุณ สำหรับราคานั้นอยู่คาดว่าจะไม่ได้แรงเท่าไหร่ ต้องรอติดตามกันอีกไม่นานหลังจากนี้