ธปท.รับทบทวนเกณฑ์จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% หลังภาษีทรัมป์ กดดันเศรษฐกิจ
กรุงเทพฯ 19 ก.ค.-ธปท. ระบุ SME ที่ได้รับผลกระทบภาษีทรัมป์ สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ไม่ต้องรอเป็น NPL กำลังทบทวนเกณฑ์ลดจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ5% ขณะที่ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 ลงเบียน แล้ว 7.3 หมื่นราย 1.3 แสนบัญชี
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภายหลังการบบรรยายในโครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง ประจำปี 2568 “รู้ทันโลกการเงิน ทลายหนี้สู่ความยั่งยืน“ ถึงการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า ที่ผ่านมา ธปท. มีมาตรการตามแนวทางการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ หรือ Responsible Lending คือเมื่อลูกหนี้มีปัญหาการชำระหนี้ก่อนจะเป็นหนี้เสีย (NPL) และหลังเป็นหนี้เสีย เจ้าหนี้ยังต้องช่วยเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวใช้มาตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด สำหรับมาตรการภาษีตอบโต้ที่อาจทำให้รายได้ลดลง จนประสบปัญหาการชำระหนี้ ไม่ต้องรอให้เป็น NPL สามารถเข้าไปขอเจรจา เพื่อปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ได้
ส่วนการปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต (min pay ) ที่มีการปรับลดการจ่ายขั้นต่ำในช่วงโควิด จาก 10% เหลือ 5% และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ได้มีการปรับเพดานการจ่ายขั้นต่ำขึ้นมาที่ 8% อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้มีหลายฝ่ายมองว่ามีโอกาสที่จะปรับลดจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำไปในระดับ 5% อีกครั้งหรือไม่ นางสุวรรณีกล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว กำลังพิจารณาทบทวนและจะประกาศเร็วๆ นี้
ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยูที่ 16.4 ล้านล้านบาท โดยไตรมาส 1 ปี 2568 อยูที่ 87.4% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 0.1 % ส่วนหนึ่งเกิดจากจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังสถการณ์โควิด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยปรับลดลงจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง สอดคล้องกับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง โดยยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อในระยะต่อไป โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับความคืบหน้าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 มีผู้ลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 1.5 ล้านราย ครอบคลุม 2.0 ล้านบัญชี และจากการสำรวจข้อมูลผลการคัดกรองคุณสมบัติจากสถาบันการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 พบว่ามีลูกหนี้ที่ลงทะเบียนข้างต้นที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายร่วมโครงการได้จำนวน 6.5 แสนราย (คิดเป็นร้อยละ 34 ของลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 1.9 ล้านราย) เป็นยอดหนี้ 4.8 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 54 ของยอดหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 8.9 แสนล้านบาท)
สำหรับการดำเนินโครงการระยะที่ 2 ที่เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 – 15 กรกฎาคม 2568 มีลูกหนี้มาลงเบียนเข้าร่วมโครงการทั้งระยะที่ 1 และ 2 แล้ว 7.3 หมื่นราย 1.3 แสนบัญชี ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องเร่งติดต่อลูกหนี้เพื่อดำเนินการทำข้อตกลงในการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป.-516.-สำนักข่าวไทย