เรียกประชุม ศบ.ทก.ด่วนพรุ่งนี้ 20 ก.ค. ฟังผลสอบกับระเบิด หึ่มฟ้องกัมพูชา ละเมิดสัญญา Ottawa
เรียกประชุม ศบ.ทก.ด่วนพรุ่งนี้ รับฟังผลสอบ กับระเบิดของ ทภ. 2 พร้อมกำหนดการดำเนินการต่อไป ด้าน พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ โฆษก ศบ.ทก.ด้านความมั่นคง แถลงผลการประชุม ชี้ 2-3 วัน ทราบข้อเท็จจริงเป็นทุ่นระเบิดใหม่ไหม
วันนี้ (19 ก.ค.) เมื่อเวลา 16:00 น. ที่ผ่านมา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผย ว่า พล.อ.ณัฐพล นาค พาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา (ศบ.ทก.) ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ ศบ.ทก.ในวัน พรุ่งนี้อาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. โดยจะเป็นการกำหนดแนวทาง กรณีกำลังพล ทภ.2 จังหวัดอุบลราชธานี ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนรักษาความสงบในพื้นที่ช่องบกและเหยียบกับระเบิด ทำให้ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย
รวมถึงยังได้สั่งการให้ ทภ. 2 เก็บข้อมูลหลักฐานและผลการพิสูจน์ ทั้งหมดรายงานผลเป็นลายลักษณ์อักษรให้ ศบ.ทก.ทราบ
ทั้งนี้ การประชุมซึ่งจะมีกระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคงที่เป็นคณะกรรมการของ ศบ.ทก. เข้าร่วม ในการหารือถึงผลการพิสูจน์กับระเบิดและการกำหนดท่าทีที่จะดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ดีหากฝ่ายกัมพูชาต้องการปฎิเสธข้อกล่าวหาของฝ่ายไทย ก็ต้องเตรียมหลักฐานมาหักล้างข้อมูลของฝ่ายไทย
อัปเดตฝั่งไทยย้ำชัด 2-3 วัน ทราบเป็นทุ่นระเบิดที่ถูกวางขึ้นใหม่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นส่อละเมิดอนุสัญญา Ottawa
ด้าน พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ โฆษก ศบ.ทก.ด้านความมั่นคง แถลงผลการประชุม ศบ.ทก. ประจำวันที่ 18 ก.ค.68 ระบุตอนหนึ่งว่า ขอเน้นย้ำ หากเป็นทุ่นระเบิดที่มีการวางใหม่ ฝ่ายไทยจะไม่เพิกเฉย และหากเป็นการล่วงล้ำอธิปไตย ทางเราจะดำเนินการตอบโต้อย่างเหมาะสม อย่างแน่นอน
สำหรับรายละอียดเกี่ยวกับทุ่นระเบิด ปัจจุบันกองทัพบกได้ส่งหน่วยปฏิบัติการทุ่ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) เข้าในพื้นที่เกิดเหตุ เก็บหลักฐานนำมาวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดอย่างละเอียด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 วัน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ในเรื่องของชนิดและห้วงเวลาที่นำทุ่นระเบิดมาติดตั้ง ว่าเป็นทุ่นระเบิดที่ถูกวางขึ้นใหม่หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดต่ออนุสัญญา Ottawa ว่าด้วยการห้ามใช้และเก็บสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เพราะไทยและกัมพูชา เป็นประเทศภาคีในอนุสัญญาฯ ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2542
“ขอเน้นย้ำ หากเป็นทุ่นระเบิดที่มีการวางใหม่ ฝ่ายไทยจะไม่เพิกเฉย นอกจากนี้ หากพบว่ามีการล่วงล้ำอธิปไตย ทางเราจะมีการดำเนินการตอบโต้อย่างเหมาะสมอย่างแน่นอน”
“ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ฝ่ายไทยยึดมั่นในการใช้ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นหลักการที่ผ่ายไทยยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด โดยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป”
อนุสัญญาออตตาวา คืออะไร ? เปิดสถานะไทย-กัมพูชา ภายใต้รายละเอียดสัญญา
“อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและการทำลายทุ่นระเบิด” (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-Personnel Mines and on Their Destruction) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “อนุสัญญาออตตาวา” (Ottawa Treaty)
หรือ “อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล” (Anti-Personnel Mine Ban Convention หรือ APMBC) ได้รับการรับรองที่กรุงออสโลเมื่อ 18 ก.ย.1997 และเปิดให้ลงนามที่กรุงออตตาวาในวันที่ 3 ธ.ค.1997 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มี.ค.1999 หลังมีประเทศให้สัตยาบันครบ 40 ประเทศ
ขณะที่ภาคีของอนุสัญญาออตตาวาทั้ง 2 ประเทศ คือ ไทยและกัมพูชานั้นได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้พร้อมกันในวันที่ 3 ธ.ค.1997 โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในวันที่ 27 พ.ย.1998 และอนุสัญญามีผลบังคับใช้กับไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ 1 มี.ค.1999
ขณะที่กัมพูชาได้ให้สัตยาบันในวันที่ 28 ก.ค.1999 และมีผลบังคับใช้กับกัมพูชาอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ม.ค.2000
กับสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2568 เกิดเหตุทหารไทย 3 นาย ประสบเหตุเหยียบกับระเบิดขณะลาดตระเวนจากฐานปฏิบัติการมรกตไปยังเนิน 481 บริเวณช่องบก จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ โดย 1 ในนั้นสูญเสียขา
เบื้องต้น พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ได้เข้าเยี่ยมทหารที่บาดเจ็บและยืนยันว่ากองทัพไทยจะให้การดูแลทหารที่บาดเจ็บอย่างเต็มที่ พร้อมแจ้งว่าอาจเป็น “ทุ่นระเบิดเก่า” ที่หลงเหลือจากอดีตและยังไม่ได้รับการกวาดล้าง แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นระเบิดใหม่ รับรองว่าจะไม่มีการหยุดนิ่ง เพราะทั้ง 2 ประเทศอยู่ในสนธิสัญญาออตตาวา การใช้ระเบิดใหม่ถือว่าผิดอนุสัญญานี้ และจะยื่นประท้วงกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศทำหนังสือประท้วงกัมพูชาและฟ้องต่อสหประชาชาติด้วย.
อ่านข่าวเพิ่มเติม