“เงินเฟ้อยูโรโซน” แตะเป้า 2% สอดคล้องเป้า ECB นักวิเคราะห์จับตาลดดอกเบี้ย ก.ย.68
"เงินเฟ้อยูโรโซน" เดือนมิถุนายนอยู่ที่ 2% ตรงเป้า ECB ขณะเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว นักวิเคราะห์คาด ECB ตรึงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม ก่อนลดอีก 0.25% เดือนกันยายน
วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เวลา 16.07 น. สำนักข่าว CNBC รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนปรับเพิ่มเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2% ในเดือนมิถุนายน ตามข้อมูลเบื้องต้นจากสำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สะท้อนว่าระดับราคาสินค้าผู้บริโภคในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรขณะนี้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำหนดไว้ที่ 2% แล้ว
นักเศรษฐศาสตร์ที่รอยเตอร์สำรวจความเห็นคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วว่า อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2% ในรอบ 12 เดือนจนถึงเดือนมิถุนายน โดยก่อนหน้านี้ อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนลดลงเกินคาดมาอยู่ที่ 1.9% ในเดือนพฤษภาคม
ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงาน อาหาร ยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคงทรงตัวที่ระดับ 2.3% ในเดือนมิถุนายน
ในส่วนของเงินเฟ้อภาคบริการ ซึ่งเป็นตัวเลขที่นักวิเคราะห์จับตามองอย่างใกล้ชิด กลับเร่งตัวขึ้นเป็น 3.3% ในเดือนมิถุนายน หลังจากชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 3.2% ในเดือนพฤษภาคม และลดลงจากระดับสูงสุดที่ 4% ในเดือนเมษายน
ข้อมูลเงินเฟ้อรายประเทศที่เผยออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่าเยอรมนีมีอัตราเงินเฟ้อลดลง ฝรั่งเศสและสเปนมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่อิตาลีไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนมิถุนายน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มโดยรวมที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนจะขยับเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ ECB ตั้งไว้
แนวโน้มดังกล่าวยิ่งหนุนความคาดหวังว่า ECB จะตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยสำคัญ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ 2% ในการประชุมปลายเดือนกรกฎาคม ก่อนที่จะมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในเดือนกันยายน
ฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ECB ให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อวันอังคารว่า เขาเชื่อว่ารอบการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อสิ้นสุดลงแล้ว
เลนกล่าวในการประชุมประจำปีของ ECB ที่เมืองซินตรา ประเทศโปรตุเกสว่า “เรามองว่ารอบสุดท้ายของมาตรการเข้มงวดเพื่อดึงเงินเฟ้อลงจากจุดสูงสุดที่ 10% ให้กลับมาอยู่ที่ 2% ได้สำเร็จแล้ว แต่หากมองไปข้างหน้า เรายังต้องเตรียมพร้อมหากพบความเสี่ยงที่อาจทำให้เงินเฟ้อเบี่ยงเบนจากเป้าหมาย และส่งผลกระทบต่อภาพรวมระยะกลาง”
เลนย้ำว่า ECB จะยังคงตัดสินใจนโยบายตามข้อมูลเศรษฐกิจที่แท้จริง (Data-Dependent) และจะไม่ตอบสนองต่อความผันผวนของตัวเลขเงินเฟ้อที่เป็นเพียงจุดสะดุดชั่วคราว
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์เตือนว่าปัจจัยภายนอกยังคงเป็นความเสี่ยงที่อาจทำลายแนวโน้มเงินเฟ้อขาลงของยูโรโซน ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อภาคบริการที่ยังทรงตัวในระดับสูง ราคาน้ำมันที่ผันผวนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงความเสี่ยงจากนโยบายภาษีการค้าของสหรัฐที่อาจรุนแรงขึ้น
แต่หากไม่มีเหตุการณ์เศรษฐกิจช็อกเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และแนวโน้มเงินเฟ้อขาลงยังดำเนินต่อไป นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ECB มีแนวโน้มตรึงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม และอาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายน
อ้างอิง : reuters.com