“ดร.นลินี” จับมือสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม เดินหน้าผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวฮาลาลโลก“
“ดร.นลินี” จับมือสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม เดินหน้าผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวฮาลาลโลก“
ดร.นลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ณ ทำเนียบรัฐบาล ตนได้หารือกับ นายมารุต เมฆลอย นายกสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม (Thai Muslim Trade Association: TMTA) เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยสู่เวทีโลก โดยในการหารือมีนายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และนางสาวยุวภา ใจบุญ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการหารือด้วย การพบหารือครั้งนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการยกระดับบทบาทของไทยในเศรษฐกิจฮาลาลโลก พร้อมผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดที่มีการเติบโตสูงนี้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ดร.นลินี ได้กล่าวแสดงความชื่นชมบทบาทของ TMTA ซึ่งกำลังจะครบรอบ 10 ปีในปีนี้ และปัจจุบันมีสมาชิกในเครือข่ายกว่า 300–400 ราย โดย TMTA มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการฮาลาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการให้คำแนะนำในด้านการผลิต การบริการ การเข้าสู่ตลาด และข้อแนะนำเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการยกระดับศักยภาพของภาคเอกชนไทยในการเข้าสู่ตลาดมุสลิมโลกที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ TMTA ยังเป็นตัวแทนประเทศไทยในหอการค้ามุสลิมโลก (The Islamic Chamber of Commerce and Development : ICCD) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมผู้แทนภาคเอกชนจาก 57 ประเทศ
ดร. นลินี เผยเพิ่มเติมว่า หอการค้ามุสลิมโลก (ICCD) เล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในฐานะประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมฮาลาลและบริการที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมในภูมิภาค จึงมีแผนจะจัดงาน Reception ครั้งใหญ่ ที่กรุงเทพมหานครในช่วงเดือนกันยายนนี้ โดยจะเชิญผู้นำระดับสูงจากภาคนโยบายและภาคธุรกิจในด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับฮาลาล จำนวน 60 คน เพื่อร่วมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฮาลาลของไทยในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม การท่องเที่ยว และการลงทุน ตลอดจนสร้างความเชื่อมโยงกับเครือข่ายโลกมุสลิมอย่างเป็นระบบ
ดร. นลินี เสริมว่า ในการหารือยังได้มีการพูดถึงประเด็นการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยในฐานะประเทศปลายทางที่ยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม โดยเฉพาะการพัฒนา “The Global Muslim-Friendly Hospitality Index (GMHI)” ซึ่งเป็นระบบการรับรองและจัดอันดับสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการ 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล และสปา ทั้งนี้ หากโครงการสำเร็จและเป็นที่ยอมรับ จะส่งผลเชิงบวกต่อการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทยได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และผลักดันให้ประเทศไทยกลับมายืนอยู่แถวหน้าในฐานะจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมระดับโลกได้
นอกจากนี้ ในการหารือ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือหลายประการ อาทิ ความสำเร็จของการจัดงาน Mega Halal Bangkok 2025 ซึ่งจัดขึ้นก่อนหน้านี้ และได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริโภค ซึ่งได้จุดประกายความร่วมมือเชิงลึกระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ นำไปสู่การหารือและเจตจำนงร่วมกันในการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างเข้มแข็งในเวทีโลก การใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของไทยในด้านศูนย์วิจัยฮาลาล การส่งเสริมอาหารฮาลาลกับกลุ่มผู้ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ผลักดันการเป็น Halal Kitchen of the World การส่งเสริมผู้ประกอบการฮาลาลเจาะตลาดต่างประเทศ การเข้าร่วมงาน Thailand International Mega Fair 2025 ที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ในช่วงเดือนธันวาคม 2568 ตลอดจนการแนะนำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทาง TMTA จะจัด อาทิ การจัดงาน Halal มหานคร ต่อเนื่องเป็นเวลา 15 วัน ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 ณ ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เป็นต้น
ประธานผู้แทนการค้าไทย ทิ้งท้ายว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้ง “คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.)” ซึ่งมีภารกิจหลักในการกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์ และนโยบายระดับชาติด้านฮาลาล ตลอดจนการจัดตั้ง “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย” ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการข้อมูล พัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการฮาลาลไทยให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนถึงการสานต่อนโยบายที่ริเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งได้วางรากฐานการผลักดันฮาลาลไว้ตั้งแต่ต้น และได้รับการสานต่ออย่างเข้มข้นภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดยยังคงยึดแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การเพิ่มรายได้ให้ชุมชน และการใช้ Soft Power ของไทยในเวทีเศรษฐกิจโลก ผ่านมิติของอาหาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวฮาลาล
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ สิงหาคม 2567 ประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองฮาลาลแล้วกว่า 6,789 ราย มีผลิตภัณฑ์กว่า 190,000 รายการ (SKU) โดยในปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าฮาลาลของไทยไปกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) อยู่ที่ 315,899 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 7.83 ขณะที่มูลค่าการค้าฮาลาลทั่วโลกสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 ซึ่งแสดงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มหาศาลของตลาดนี้