กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าปั้น ‘สมุนไพรไทย’ สู่พืชเศรษฐกิจใหม่
กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าปั้น "สมุนไพรไทย" สู่พืชเศรษฐกิจใหม่ เสริมแกร่งเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ ยกระดับมาตรฐานการผลิต–แปรรูป พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางสมุนไพรคุณภาพในอาเซียน
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ท่ามกลางกระแสรักสุขภาพที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สมุนไพรไทยไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกด้านการรักษาโรค แต่ยังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงเดินหน้าผลักดันสมุนไพรไทย สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ภายใต้โครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ประจำปี 2568 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรและยกระดับธุรกิจสมุนไพรให้แข็งแกร่งทั่วประเทศ
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ขับเคลื่อนเครือข่ายความเข้มแข็งและพัฒนาธุรกิจพืชสมุนไพร ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (ปี 2566–2570) โดยตั้งเป้าหมายให้มูลค่าของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพในประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกสมุนไพรชั้นนำในระดับภูมิภาคอาเซียน
สำหรับการดำเนินงานดังกล่าว วางอยู่บนกรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน, การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมสมุนไพรตลอดห่วงโซ่อุปทาน, การส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร, การบริโภคอย่างเหมาะสมและยั่งยืน และการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ มุ่งเน้นดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 1 ซึ่งครอบคลุมมาตรการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ได้ผลผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้รับรองมาตรฐานไม่น้อยกว่า 5% และเพิ่มมูลค่าการผลิตไม่น้อยกว่า 3% ทั้งนี้เพื่อยกระดับสถาบันเกษตรกรให้เป็นกำลังสำคัญในการผลิตและพัฒนาสมุนไพรไทยที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และความยั่งยืน
จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงเดินหน้าส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้สามารถผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภคพร้อมต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยได้คัดเลือกพืชสมุนไพรเป้าหมายที่มีศักยภาพโดดเด่นจำนวน 15 ชนิด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มสมุนไพรศักยภาพ เช่น กระชายดำ กวาวเครือขาว ขมิ้นชัน มะขามป้อม และใบบัวบก
- กลุ่มสมุนไพรที่มีความต้องการในตลาด เช่น ไพล ขิง ว่านหางจระเข้ มะระขี้นก เพชรสังฆาต กระชาย และฟ้าทะลายโจร
- กลุ่มสมุนไพรที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ กัญชง กัญชา และกระท่อม
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สมุนไพรเหล่านี้ถูกส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่เมืองสมุนไพร จำนวน 16 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น เชียงราย อุดรธานี สกลนคร พิษณุโลก สุรินทร์ จันทบุรี สงขลา เป็นต้น ซึ่งแต่ละจังหวัดล้วนเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการเพาะปลูก เพื่อสร้างแหล่งผลิตวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ
สำหรับปีงบประมาณ 2568 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับสถาบันเกษตรกร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจสมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งด้านการผลิตตามมาตรฐาน GAP/เกษตรอินทรีย์ ด้านการลดต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการแปรรูปและวางแผนการตลาด และด้านการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อขยายตลาดและเพิ่มมูลค่า
ปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,460 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2,265 ไร่ ในสถาบันเกษตรกร 73 แห่ง กระจายอยู่ใน 32 จังหวัดทั่วประเทศ สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการส่งเสริมพืชสมุนไพรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าในอนาคต
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กรมส่งเสริมสหกรณ์ เตรียมจัดงานใหญ่ 'GI fresh 2 you สินค้า GI สดใหม่ ใส่ใจคุณภาพ'
- กรมส่งเสริมสหกรณ์ มุ่งแปรรูปเพิ่มค่า สินค้าสหกรณ์ สู่รายได้เพิ่มของเกษตรกรสมาชิก
- กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าส่งเสริมพัฒนาอาชีพในพื้นที่ คทช. ปี 69 ขยายเพิ่ม 50 พื้นที่
ติดตามเราได้ที่