"อลงกรณ์" ดัน Climate Tourism เพิ่มรายได้ประเทศท่ามกลางวิกฤตยุโรป
“อลงกรณ์” เสนอแนวทางใหม่การท่องเที่ยวเชิงภูมิอากาศ (Climate Tourism) เพิ่มรายได้ประเทศภายใต้วิกฤติยุโรปเดือด
วันที่ 3 ก.ค.68 นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์และอดีตคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว, สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์บทความเรื่อง “การท่องเที่ยวเชิงภูมิอากาศ (Climate Tourism) : โอกาสใหม่ของไทยภายใต้วิกฤติยุโรปเดือด”ในเฟสบุ๊ค เสนอแนวทางใหม่Climate Tourism ในการสร้างรายได้เพิ่มด้านการท่องเที่ยวจากตลาดยุโรปที่เผชิญปัญหาอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีข้อความดังนี้
“การท่องเที่ยวเชิงภูมิอากาศ (Climate Tourism) : โอกาสใหม่ของไทยภายใต้วิกฤติยุโรปเดือด”
โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ อดีตคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว, สภาผู้แทนราษฎร
สถานการณ์คลื่นความร้อนในยุโรปช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคม 2025 มีอุณหภูมิที่สูงเกินเกณฑ์และส่งผลกระทบรุนแรง เช่นในสเปนเผชิญอุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 44 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ โดยบันทึกอุณหภูมิสูงสุด 44.9 องศาเซลเซียส(29 มิ.ย.) และเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในรัฐกาตาลุญญาและ รัฐวาเลนเซีย ขณะที่อิตาลี บันทึกอุณหภูมิที่กรุงโรม 40.8 องศาเซลเซียส(30 มิ.ย.)สูงที่สุดในรอบ 120 ปี
ส่วนเอเธนส์เมืองหลวงของกรีซร้อนเกิน 42 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง 4 วันขนสนามบินต้องระงับเที่ยวบินช่วงบ่ายและเกิดไฟป่าใกล้กรุงเอเธนส์และบนเกาะเลสบอส ทางด้านฝรั่งเศสตอนใต้ร้อนกว่า 40 องศาเซลเซียสแต่ยังไม่เท่าเมืองโมราทางใต้ของกรุงลิสบอนเมืองหลวงของปอร์ตุเกสมีอุณหภูมิสูงถึง 46.6 องศาเซลเซียสซึ่งใกล้เคียงสถิติร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป (48.8 องศาเซลเซียสในซิซิลีปี 2021)
คลื่นความร้อนที่รุนแรงและเกิดบ่อยขึ้นในยุโรป ไม่ได้เกิดจากสภาพอากาศตามฤดูกาลเพียงอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงโดยตรงกับผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
รายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ทวีปยุโรปคือพื้นที่ที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลก โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยในยุโรปเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง สองเท่าซึ่งความถี่และความรุนแรงของคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น 10-100 เท่าเนื่องจากภาวะโลกร้อน คาดการณ์ว่าอุณหภูมิฤดูร้อนในยุโรปจะ สูงขึ้นอีก 2-5°Cภายในปี 2100 หากการปล่อยคาร์บอนไม่ลดลง Copernicus EUและMétéo-France (1 ก.ค. 2025) ระบุว่าเดือนมิถุนายน 2025 เป็นเดือนที่“ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์”ในยุโรปนับตั้งแต่เริ่มบันทึก โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 2.5°C วิกฤติยุโรปเดือด สร้างจุดหมายใหม่”Cool Destination”
สถานการณ์คลื่นความร้อนในยุโรปได้เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจการท่องเที่ยวของยุโรป เช่นโรงแรมและรีสอร์ทในพื้นที่ร้อนลงทุนใหม่สร้างสระว่ายน้ำในร่ม ปรับเปลี่ยนระบบปรับอากาศโดยใช้พลังงานสะอาดลดโลกร้อนและเพิ่มกิจกรรมในร่มบริการลูกค้า
ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวก็หนีร้อนไปจุดหมายปลายทางที่เย็น(Cool Destinations)เช่นพื้นที่ชายฝั่งทะเลเหนือ (นอร์เวย์, เดนมาร์ก, ไอซ์แลนด์), ภูเขาสูง (เทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรีย) และยุโรปตะวันออก (โปแลนด์, บอลติก) ที่มีอากาศเย็นกว่า นอกจากนี้ยังมีรูปแบบส่งเสริมการท่องเที่ยวยามค่ำคืน (Night Tourism)โดยจัดกิจกรรมท่องเที่ยวกลางคืนเช่น ทัวร์ชมเมือง งานเทศกาลต่างๆในเวลากลางคืนและกิจกรรมการดูดาว (Stargazing) คือ การมองขึ้นไปบนท้องฟ้าในเวลากลางคืนเพื่อสังเกตดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ และวัตถุอื่นๆ ในอวกาศ เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมทั้งในเชิงท่องเที่ยวสันทนาการและการศึกษา
สภาพแวดล้อมที่ร้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวแบบ “Cool Retreat" โดยมุ้งหาสถานที่ที่เงียบสงบและสวยงาม เช่น รีสอร์ทในชนบท หรือบ้านพักตากอากาศที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติ เพื่อพักผ่อนและฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ เช่น การทำสมาธิ การเข้าคอร์สโยคะ หรือการใช้เวลาอยู่กับตัวเองในสถานที่เงียบสงบ
โอกาสไทยจากHotสู่Heat Escape จากวิกฤตคลื่นความร้อนในยุโรป ทำให้มองเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยโดยสามารถใช้จุดแข็งของไทยสร้างรายได้ใหม่เข้าประเทศพร้อมกับตอบโจทย์วิกฤติยุโรปเดือด
แนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยปี 2568 ไม่สดใสนัก ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวโดยมีการคาดหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยประมาณ 34.5 ล้านคน หดตัว 2.8% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีโดยตลาดนักท่องเที่ยวหลักที่หดตัว อาทิ จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้
สำหรับตลาดที่ยังเติบโตมาจากนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็น นักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล (Long haul) อาทิ รัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ส่วนทางด้านรายได้ท่องเที่ยวในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.62 ล้านล้านบาท หดตัว 3% จากปี 2567 หนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ภายใต้สถานการณ์ยุโรปเดือดก็คือตลาดยุโรปเพื่อชดเชยการลดลงของตลาดสำคัญๆ โดยเฉพาะจีนแต่ต้องดำเนินกลยุทธ์ใหม่ๆโดยเร็ว ยกตัวอย่างเช่น
1.โปรโมทเป็น“ฮับหนีร้อน”(Heat Escape Hub)โดยสนับสนุนภาคเอกชนของไทยร่วมมือกับบริษัททัวร์ในยุโรป
2.แพ็กเกจ “Workation (ทำงานระยะไกลในรีสอร์ท) โดยเฉพาะกลุ่มNomad
3. แพ็กเกจ "Double Escape"ผสมผสานการท่องเที่ยวกับสปาและเวลล์เนส(wellness)ต่อยอดภูมิปัญญาไทย อาหารเครื่องดื่มไทย แพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเพื่อสุขภาพ
4. การท่องเที่ยวเชิงภูมิอากาศ (Climate Tourism)
เป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ (Nature Tourism) ที่ตอบโจทย์โลกรวนโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังพื้นที่ธรรมชาติเพื่อสัมผัสและชื่นชมสิ่งแวดล้อม มักรวมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินป่า การอาบป่า(Forest Bathing) การชมสัตว์ป่า และการตั้งแคมป์ โดยสามารถเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นและมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวและสันทนาการทางธรรมชาติเช่นทะเล, น้ำตก, แม่น้ำ ,ถ้ำหลายพันแห่งและ อุทยานแห่งชาติทั้งบนบกและในทะเลกว่า150แห่งในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งรัดการเชื่อมโยงคอนเซปต์“สิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจ”โดยยกระดับการพัฒนาอุทยานแห่งชาติและป่าชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการประชาชนและนักท่องเที่ยวนับเป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว
ทั้งนี้ภาครัฐต้องทำงานเชิงรุกโดยร่วมมือกับภาคเอกชนขับเคลื่อนการตลาดในยุโรปโดยจัดแคมเปญโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งออนไลน์(On-line) และอินไซท์(On-site),การจัดโรดโชว์โดยการนำของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยว ททท.และสำนักงานผู้แทนการค้าไทยรวมทั้ง ส่งเสริมภาคเอกชนไทยเพิ่มเที่ยวบิน Charter จากเมืองร้อนจัดเช่น(สเปน, ปอร์ตุเกส,อิตาลี, กรีซ) และออกคูปองส่วนลดที่พักและอาหาร ภายใต้เป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวยุโรปที่ต้องการ "หลบร้อน" เพิ่มรายได้ท่องเที่ยวในทุกฤดูร้อนของยุโรป
นอกจากนี้ควรพิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ของประเทศอื่นๆอาทิ เกาหลีใต้ เตรียมเสนอมาตรการวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมากับบริษัทนำเที่ยว (Group Tour) ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่ เวียดนามเตรียมออกมาตรการวีซ่าระยะยาว 10 ปี (10-year Golden Visa) ดึงดูดชาวต่างชาติและกระตุ้นการท่องเที่ยว
อีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญคือรัฐบาลควรเร่งเจรจาทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป(อียู)โดยเร็ว
สรุป
ในขณะที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาเศรษฐกิจโตต่ำโตช้าหนี้สาธารณะหนี้ครัวเรือนสูงและรายได้น้อยจำเป็นต้องมองหาทุกโอกาสในทุกวิกฤติเพื่อแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ ดังนั้นคลื่นความร้อนในยุโรปที่เกิดขึ้นทุกปีและรุนแรงมากขึ้นจึงเป็นโอกาสด้านการท่องเที่ยวระยะยาวของไทยไม่ใช่แค่ปี 2025