7 อรหันต์มือสอบคดีฮั้ว สว. จ่อสรุปสำนวนเสนอ กกต. พิจารณาก่อนส่งไม้ต่อฟ้องศาล
จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 กรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึงผู้ที่เป็นสมาชิกอั้งยี่และผู้สนับสนุน หรือคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน สว. ได้สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ลงพื้นที่จริงและจำลองเหตุการณ์ อิมแพ็ค ฟอรัม ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ใช้เลือก สว. ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.67 เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำเป็นระบบแผนที่อัจฉริยะ GEO-AI คือ การใช้ AI และระบบภูมิสารสนเทศ (Geospatial Technology) ในการแสดงเหตุการณ์การเลือก สว. ระดับประเทศ พิจารณาพฤติกรรมกลุ่มบุคคลที่ปกปิดวิธีการดำเนินการและความมุ่งหมาย เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายในการเลือก สว. อีกทั้งยังใช้ระบบ AI ในการตรวจจับใบลงคะแนนที่มีลักษณะผิดปกติ เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการกาหมายเลขชุดเรียงกันซ้ำๆ หลายฉบับ หรือโหวตลงคะแนนตามโพย กระทั่งมีการสืบสวนเส้นทางการเงินจากรายการเดินบัญชีของธนาคาร ตามคำให้การของพยานรายสำคัญที่รู้เห็นขบวนการฮั้ว จนพบบุคคลกลุ่มแรก จำนวน 7 ราย มีเส้นทางการเงินใกล้ชิดกับขบวนการจัดฮั้ว สว. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงออกหมายเรียกพยานลอตแรกนี้ เพื่อสอบสวนปากคำในวันที่ 1 ก.ค.68 เป็นต้นไป ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
ความคืบหน้าในส่วนของคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน ส่วนกลาง คณะที่ 26 (หรือ 7 อรหันต์) ซึ่งรับผิดชอบดำเนินคดีตามกฎหมายเลือกตั้ง หรือเรียกว่าคดีฮั้ว สว. ฐานความผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 นั้น มีความคืบหน้ามากพอสมควรภายหลังจากที่มีการทยอยออกหนังสือเรียกรับทราบและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อบรรดาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และกลุ่มบุคคลภายนอกซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยและเครือข่ายของพรรค รวม 8 ลอต จำนวนกว่า 170 ราย ล่าสุดคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน ได้มีการออกหนังสือเชิญรับทราบข้อกล่าวหารวมแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 200 ราย ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ ในห้วงกลางเดือน ก.ค. คณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน เตรียมสรุปสำนวนการสืบสวนและไต่สวน พร้อมคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาทั้งหมด และความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ เสนอสำนักงาน กกต. รวมถึงเลขาธิการ กกต. หรือรองเลขาธิการ กกต. ที่ได้รับมอบหมายพิจารณา จากนั้นทางเลขาธิการ กกต. หรือรองเลขาธิการ กกต. ที่ได้รับมอบหมาย จะเข้าสู่ขั้นตอนเสนอสำนวนไปยังคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ถัดไปจึงเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยที่คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง จะเสนอให้คณะกรรมการ กกต. (ชุดใหญ่) ซึ่งมี นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นผู้พิจารณาชี้ขาดหรือสั่งการตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2566 เพื่อประธาน กกต. มีความเห็นส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อไป
“สำหรับคำชี้แจงโต้แย้งของบรรดาผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ส่วนใหญ่ยังชี้แจงได้ไม่ค่อยชัดเจน” คณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน ระบุปิดท้าย.