จีนเรียกร้องต่อต้านภาษีฝ่ายเดียว-หนุนการค้าพหุภาคี ในที่ประชุม WTO
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
เจนีวา, 24 ก.ค. (ซินหัว) — ผู้แทนจีนเปิดเผยในการประชุมคณะมนตรีใหญ่ขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. ในนครเจนีวาว่าจีนเรียกร้องให้มีการคัดค้านมาตรการภาษีฝ่ายเดียวและปกป้องระบบการค้าพหุภาคี ขณะที่ระบบการค้าโลกมีความปั่นป่วนมากขึ้นเนื่องมาจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงการแยกตัวทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว
มาตรการภาษีฝ่ายเดียวรูปแบบใหม่ยังคงเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และปริมาณการค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดต่างๆ แตะระดับ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 87 ล้านล้านบาท) สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี 2009 คณะผู้แทนจีนจึงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกองค์การฯ เพิ่มความเป็นหนึ่งเดียวและความร่วมมือ และสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคีอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผู้แทนจีนกล่าวถึงกรอบงาน “เอสดีอาร์” (SDR) ซึ่งจีนเคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ โดยประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ เสถียรภาพคือรากฐาน การพัฒนาคือหัวใจหลัก และการปฏิรูปคือแนวทาง โดยข้อเสนอนี้ครอบคลุมการยึดมั่นในหลักการขององค์การฯ อาทิ หลักปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) และหลักการไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาบูรณาการเข้าสู่ระบบการค้าพหุภาคี และเดินหน้าการปฏิรูปองค์การฯ อย่างลึกซึ้ง
นอกจากนี้ ผู้แทนจีนเน้นย้ำว่าข้อตกลงทวิภาคี หรือมาตรการผ่อนปรนความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การฯ โดยจีนเสนอให้สำนัก’านเลขาธิการองค์การฯ เพิ่มการติดตามและการวิเคราะห์มาตรการฝ่ายเดียวและข้อตกลงทวิภาคี และแจ้งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศสมาชิกอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะผลกระทบทางลบที่อาจลุกลามไปยังประเทศที่สาม
สมาชิกองค์การฯ อาทิ บราซิล สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย เวเนซุเอลา และประเทศอื่นๆ เห็นพ้องในที่ประชุมว่าความปั่นป่วนของการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นไม่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก โดยมาตรการภาษีฝ่ายเดียวบั่นทอนรากฐานของกฎระเบียบพหุภาคี ทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจและผู้บริโภคสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคมของประเทศกำลังพัฒนาที่เปราะบาง การยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีจึงยิ่งจำเป็นมากกว่าที่เคยในสถานการณ์เช่นนี้