กทม. ไม่ขัดข้อง “รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย” มั่นใจประชาชนได้ประโยชน์สูง แต่กังวลค่าส่วนต่างที่ต้องแบกรับ
กทม. ไม่ขัดข้อง “รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย” มั่นใจประชาชนได้ประโยชน์สูง แต่กังวลค่าส่วนต่างที่ต้องแบกรับ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชดเชยให้เกิดความยุติธรรม
วันนี้ (16 ก.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนเข้าประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยกล่าวถึงมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตลอดสายว่า “ตามนโยบายรัฐบาล (ระยะที่ 2) ในส่วนที่กทม. รับผิดชอบก็ไม่ได้มีข้อขัดข้องใด แต่มีข้อสำคัญอยู่ 2 ประเด็น คือ ในส่วนของสัมปทานของเอกชนที่มีสัญญาอยู่จะมีเรื่องการชดเชยรายได้ที่หายไป จะต้องทำอย่างไร ทั้งนี้ ตัวเลขที่กระทรวงคมนาคมประมาณการมาอาจดูน้อย เพราะปัจจุบันค่าโดยสารเฉลี่ยในส่วนสัมปทานจะอยู่ที่ 34 บาทต่อคน มีผู้โดยสารประมาณ 7 แสนคน และอาจจะเพิ่มขึ้น จึงต้องไปพูดคุยในรายละเอียดส่วนต่างเรื่องตัวเลขอีกครั้ง
อีกส่วนคือ กทม. จ้างเอกชนเดินรถอยู่ก็ต้องดูว่าจะชดเชยอย่างไร เพราะมีตัวเลขต้นทุนที่แท้จริงที่ กทม. จ้างเอกชนเดินรถอยู่ประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี แต่มีรายรับประมาณ 2 พันล้านบาท ทั้งนี้ในอนาคตคงต้องมีการปรับอัตราค่าโดยสารขึ้นอยู่แล้ว เพราะว่าปัจจุบันต้นทุนกับรายได้ไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นจะมีการชดเชยเท่าไหร่ก็ต้องให้เกิดความยุติธรรม เพราะสุดท้ายเราก็ต้องเอาภาษีมาจ่ายค่าเดินรถ จึงต้องคุยรายละเอียดกัน ในเบื้องต้นได้แจ้งทางกระทรวงคมนาคมไปแล้ว ขณะนี้รอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรียก กทม. เข้าไปพูดคุยในรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้งรวมถึงตัวเลขที่ต้องคำนวณให้ชัดเจน
"สิ่งที่เราเป็นกังวลเล็กน้อยคือเรื่องสัญญาต่าง ๆ ระหว่าง เอกชนกับ กทม. ซึ่งต้องคุยให้ชัดเจน เพราะสุดท้าย หากตกลงเรื่องค่าชดเชยไม่ได้ กทม. ก็อาจจะถูกฟ้อง เราไม่ได้ขัดข้อง ยินดีทำตามนโยบาย เพียงแต่ขอให้ทำรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงแค่หน่วยงานรัฐ ยังมีหน่วยงานเอกชนด้วย ซึ่งการพุดคุยเรื่องค่าชดเชยคงต้องคุยกัน 3 ฝ่ายทั้ง กระทรวงคมนาคม กทม. และเอกชน เบื้องต้นน่าจะได้พูดคุยกันภายในสัปดาห์นี้" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย ก่อนเข้าประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) พ.ศ. 2568