จุรินทร์ ย้ำจุดยืนปชป. ไม่นิรโทษฯ ม.112-อาญาร้ายแรง แต่หนุนนิรโทษฯคดีการเมืองทั่วไป
‘จุรินทร์’ ย้ำจุดยืน ‘ปชป.’ ไม่นิรโทษกรรม ม.112-อาญาร้ายแรง หนุนนิรโทษการเมืองทั่วไปได้ หวั่นเหมือนนิรโทษสุดซอย
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภา โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมี ส.ส.และภาคประชาชนเสนอรวม 5 ฉบับ ได้แก่
- ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. … เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ส.ส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ
- ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. … เสนอโดย นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม
- ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. … เสนอโดย พรรคประชาชน
- ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … เสนอโดยน.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน
- ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. … เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นฉบับที่เสนอเข้ามาใหม่และยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระ แต่ประธานในที่ประชุมอนุญาติให้นำมาพิจารณาในคราวเดียวกันได้
จากนั้นเวลา 14.40 น. เปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นถึงร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า จุดยืนของตนและพรรคประชาธิปัตย์ต่อการนิรโทษกรรม คือเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดโดยทั่วไป เช่น การเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองทางการ การแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญวิถีประชาธิปไตย และไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ต่อพระราชินี ต่อองค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดในคดีทุจริตและประพฤติไม่ชอบ รวมถึงการนิรโทษกรรมในคดีอาญารายแรง เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนา ซึ่งความจริงประเทศไทยเคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้วหลายครั้ง คดีส่วนใหญ่เป็นทางการเมือง และครั้งที่ใหญ่คือการออกคำสั่งที่ 66/23 ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดในคดี 6 ตุลา 19 ซึ่งมีการนิรโทษกรรมในปี 2521 ใน 2 ปีต่อมา แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่เรามีการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และการกระทำความผิดจากมาตรา 112
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับกรณีการกระทำความผิดในคดีคอร์รัปชั่น ที่เป็นมะเร็งร้ายต่อประเทศ ความจริงได้มีความพยายามที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมการกระทำความผิดฐานทุจริตประพฤติมิชอบมาแล้วครั้งหนึ่ง ในปี 2556 คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เนื้อหาสำคัญคือการนิรโทษกรรมคดีการกระทำความผิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่สุดท้ายไปต่อไม่ได้และกลายเป็นมูลเหตุหนึ่งของการยึดอำนาจเวลาต่อมา ฉะนั้นการนิรโทษกรรมในคดีทุจริตประพฤติมิชอบจึงกลายเป็นของแสลงสำหรับสังคมไทย และถือเป็นอุทาหรณ์สำคัญที่สะท้อนว่าประเทศไทยไม่ต้องการเห็นการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดผิดตามมาตรา 112 นั้นได้มีการพยายามมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ต้องยอมรับความจริงว่าถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าจะนิรโทษกรรมเพื่อสร้างสังคมสันติสุข สร้างสังคมปรองดอง อันนี้เป็นดาบ 2 คม เพราะอีกคมหนึ่งแทนที่จะสร้างสังคมปรองดองอาจจะนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมครั้งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็ได้ และที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 มาก่อน และล่าสุดในสภา เราเพิ่งจะมีการพิจารณาผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรม ซึ่ง กมธ.ชุดนี้นำมาขอความเห็นต่อที่ประชุมใหญ่ และได้เสนอ 3 ทางเลือกต่อการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 10 และมาตรา 112 คือ 1.ไม่มีการนิรโทษกรรม 2.นิรโทษกรรมแบบนี้เงื่อนไข และ 3.นิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งตนเกรงว่าหากผลการศึกษาของ กมธ.เป็นเช่นนี้ และสภาลงมติเห็นชอบก็อาจจะถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการนำไปสู่การนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 110 และ 112 ในอนาคตได้ แต่สุดท้ายสภาลงมติไม่เห็นชอบกับผลการศึกษารวมทั้งข้อสังเกตซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ สะท้อนว่าสภานี้ก็เคยมีความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม นอกจากคดีทุจริตแล้วก็เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ด้วย
“วันนี้มีการเสนอร่างที่คล้ายกัน 5 ฉบับ เนื้อหาแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดอาญาร้ายแรง และกลุ่มที่ 2 คือ เนื้อหาแตกต่างกันในประเด็นสำคัญกับกลุ่มที่ 1 ดังนั้น จุดยืนของผมและพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันใน 2 ข้อ คือสนับสนุนการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดในคดีการเมืองทั่วไป และไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 110 และ 112 การกระทำความผิดฐานทุจริตและประพฤติมิชอบและการกระทำความผิดในคดีอาญาร้ายแรง หากร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับ ฉบับใดเข้าข่ายกรณีที่ผมได้กล่าวไป ผมและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้การสนับสนุน” นายจุรินทร์กล่าว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : จุรินทร์ ย้ำจุดยืนปชป. ไม่นิรโทษฯ ม.112-อาญาร้ายแรง แต่หนุนนิรโทษฯคดีการเมืองทั่วไป
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th