‘วิทัย รัตนากร’ มือพลิกฟื้นจากนกแอร์-ไอแบงก์-กบข.-ออมสิน สู่ผู้ว่า ธปท.คนที่ 25
ครม.ไฟเขียวตั้ง วิทัย รัตนากร ‘มือพลิกฟื้น’ จากนกแอร์-ไอแบงก์-กบข.-ออมสินสู่ผู้ว่าแบงก์ชาติ คนที่ 25 ประสานนโยบายการเงิน-การคลัง รับมือเศรษฐกิจผันผวน – แก้ GDP กว่าศักยภาพ
วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม 2568 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ ตั้งนาย “วิทัย รัตนากร ” ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีผล 1 ตุลาคม นี้ โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง เนื่องจาก นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่30 กันยายน 2568โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตร ได้ให้ความเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้พิจารณาเสนอแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงินธนาคาร และมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมาย (ตามข้อ 3.1 ) ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (ตามข้อ 3.2 ) ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติ
ดังนั้น จึงเห็นควร เห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้ขอให้สำนักงานองคมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 25
……
หลังจากที่นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สรุปรายชื่อผู้ที่ผ่านการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ 2 ราย คือ ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เสนอให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 ต่อมานายพิชัย ชุณหวชิรรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอชื่อนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เดิมทีทางผู้นำทีมพรรคเพื่อไทยซึ่งได้การรับส่งสัญญาณจากกลุ่มธุรกิจว่าควรให้การสนับสนุน ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส ซึ่งเป็นคนใน หรือ ลูกหม้อของแบงก์ชาติ จะเหมาะสมที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่การเมืองมีปัญหาหลากหลายด้าน ทำให้ดร.รุ่งผ่านการสัมภาษณ์ด้วยคะแนนเต็ม 6 คะแนน ส่วนนายวิทัยได้ 4 คะแนน ขณะที่ สส.ในพรรคเพื่อไทยบางส่วน มีการวิจารณ์ว่านายวิทัยน่าจะเป็นคนของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมานายพิชัยได้เชิญดร.รุ่ง มาหารือ/ประชุมที่กระทรวงการคลังหลายครั้ง
จนกระทั่งมาถึงในช่วงโค้งสุดท้าย นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ว่าการธนาคารกลาง ควรเป็นอิสระจากการเมือง รวมทั้งมีการยกตัวอย่าง กรณีธนาคารกลางประเทศตุรกีถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง โดยให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเกินไปเป็นเวลานาน ทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูง นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และค่าเงินอ่อนลงอย่างมาก ซึ่งคนทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยซึมซับถึงหลักการสำคัญข้อนี้ดี ตรงกันข้ามผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจคุ้นเคยกับการรับนโยบายของรัฐบาลไปทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อเกิดความเสียหาย รัฐบาลก็ต้องชดเชยให้…
ข่าววงในระบุว่าจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวเป็นการจุดประเด็นให้ทีมพรรคเพื่อไทยกลับลำ
ก่อนหน้านี้นายวิทัยได้รับการทาบทามจากบุคคลหลายฝ่าย หนึ่งในนั้นมีอดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยให้สมัครตำแหน่งผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทยเลือกดร.รุ่ง ได้ถามนายวิทัยว่าคุณอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินต่อได้หรือไม่ คำตอบคือได้…นั่นคือที่มาที่ไปในช่วงก่อนหน้านี้
ระหว่างทางอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ การกลับลำ โดยนายพิชัยเสนอชื่อนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 มีการถกเถียงกันมากพอสมควร แต่ไม่มีมติให้กลับมานำเสนอใหม่ในวันวันอังคารที่ 22 กรกฎาคม 2568
สำหรับนายวิทัย ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่เผชิญกับความไม่แน่นอนหลานด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่โตต่ำกว่าศักยภาพ ภาษีทรัมป์ นโยบายเงินเฟ้อที่ต่ำ หากทิ้งไว้นานจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้เชื่อว่าการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังจากนี้ไปจะสอดประสานกันได้เป็นอย่างดี
หากย้อนกลับไปดูการทำงานของนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ซึ่งปัจจุบันอายุ 54 ปี นายวิทัยเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นนำ เป็นบุตรชายของศาสตราจารย์พิเศษ โสภณ รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกา คนที่ 26 , อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับนางสิริลักษณ์ รัตนากร อดีตกรรมการผู้จัดการหญิงคนแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายวิทัยสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทอีก 3 ใบ ได้แก่ ปริญญาโทด้าน Finance จาก Drexel University ประเทศสหรัฐอเมริกา , ปริญญาโทด้านกฎหมายธุรกิจจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประสบการณ์การทำงานของนายวิทัยโดดเด่นการพลิกฟื้นกิจการ หลังจากนายวิทัยสำเร็จการศึกษาเริ่มทำงานครั้งแรกที่ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด เมื่อปี 2535 จากนั้นย้ายไปทำงานแวดวงการเงินการธนาคารเพื่อสั่งสมประสบการณ์อยู่หลายแห่ง อาทิ ฝ่ายค้าเงิน (Treasury Department) ของธนาคารกรุงเทพ ทำหน้าที่บริหารสภาพคล่อง และย้ายมาฝ่ายบริหารหนี้ของธนาคารเอเชีย และย้ายมาที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ทำหน้าที่บริหารกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทำงานอยู่ที่ กบข.ได้ 3 ปี
จากนั้นนายวิทัย ก็ได้รับการทาบทามให้มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน หรือ “CFO” ของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่แรกที่ให้โอกาสนายวิทัยได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ หลังจากเปลี่ยนที่ปรึกษาทางการเงินไปแล้วหลายชุด นายวิทัย ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท สายการบินนกแอร์ที่ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง จนกลับมามีกำไรได้ภายใน 2 ปี และสามารถนำหุ้นของบริษัท สายการบินนกแอร์ เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในปี 2556
ต่อมา นายวิทัยได้รับการทาบทามจากผู้บริหารในกระทรวงการคลังให้มานั่งในตำแหน่งรองผู้อำนวยการธนาคารออมสินในปี 2558 ดูแลงานทางด้านบริหารเงิน และหลักทรัพย์ รวมทั้งสินเชื่อนโยบายรัฐ ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่ธนาคารออมสิน ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังเล็งเห็นฝีมือ และประสบการณ์ของนายวิทัยในการพลิกฟื้นกิจการของสายการบินนกแอร์จนกลับมามีกำไร จึงขอยืมตัวนายวิทัยจากรองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ “ไอแบงก์” ที่ประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกันมา 5 ปี
นายวิทัย ได้เข้าไปจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของไอแบงก์ โดยเริ่มลงมือคัดแยกหนี้ดีหนี้เสีย และโอนหนี้เสียของไอแบงก์กว่า 40,000 ล้านบาท ไปยังบริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ “IAM” จากนั้นกระทรวงการคลังได้จัดงบประมาณมาเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ 18,000 ล้านบาท จนทำให้ฐานะการเงินของไอแบงก์เริ่มดีขึ้น และสามารถขยายสินเชื่อได้ตามปกติใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ทำให้ไอแบงก์กลับมามีกำไรอีกครั้งในปี 2560
ต่อมา กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดรับสมัครเลขาธิการ กบข. นายวิทัยในฐานะที่เคยเป็นลูกหม้อเก่าที่นี่ ตัดสินใจเข้ารับการสรรหา ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ กบข.ในปี 2561 จนถึงปี 2563 ตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินว่างลง นายวิทัยกลับมาสมัครเป็นผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน ผ่านการสรรหาและได้รับการแต่งตั้ง เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
5 ปีที่ผ่านมา นายวิทัย มีบทบาทสำคัญในการปรับบทบาทภารกิจของธนาคารมาเป็นธนาคารเพื่อสังคม “Social Bank” โดยนำกำไรจากการทำธุรกิจของธนาคารตามปกติมาสนับสนุนภารกิจด้านสังคม เพื่อสร้าง “Social Impact” ในการลดความเหลื่อมล้ำขยายโอกาสให้ระชาชนในระดับฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ , แก้ปัญหาหนี้สิน , ช่วยพัฒนาชุมชนและสังคม และสนับสนุนนโยบายรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถช่วยคนไทย 13 ล้านชีวิตได้ไปต่อ โดยที่ฐานะการเงินของออมสินยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สามารถทำกำไรนำส่งเงินส่งคลังไปแล้วกว่า 96,000 ล้านบาท
จากการให้สัมภาษณ์ ‘ไทยพับลิก้า’ ล่าสุดในประเด็น ‘ประเทศไทยต้องรอด’ จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่จีดีพีโตต่ำกว่าศักยภาพ และปัญหาเชิงโครงสร้างหลากหลายด้าน โดยเชื่อมั่นว่าทุกปัญหาสามารถบรรเทาและแก้ได้ ถ้าทำลงมือทำจริง และทุกๆองคาพยพทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชน ร่วมกันในแต่ละจุด แล้วต่อจิ๊กซอว์เชื่อว่าปัญหาบรรเทาได้แน่นอน
พร้อมกล่าวเน้นย้ำว่า “ถ้าถามถึงว่าปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลเมืองไทยหนักที่สุดมั้ย หนักมากแน่นอน เรื่องจริงเป็นอย่างนั้นเลยถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาหรือลดปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลได้ ในเมืองไทย ผมว่ามันจะกลายเป็นตัวเหนี่ยวรั้งทุกอย่าง เหนี่ยวรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นยาก คนดีๆ ก็จะเกิดขึ้นยาก การขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมือง การขึ้นสู่ตำแหน่งทางข้าราชการ การได้มาของงานของเอกชน กลายเป็นสิ่งที่ต้องมีปัญหาเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด”
อ่านเพิ่มเติม
- ‘ออมสิน’ พร้อมเชื่อมฟันเฟืองเล็กๆ ต่อจิ๊กซอว์ บรรเทาปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วย ‘Creating Shared Value’
- พลิกปูมชีวิตราชการ 22 ปี “สมชัย สัจจพงษ์” จากลูกหม้อคลังสู่ตัวเต็งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
- “ไอแบงก์” แจงคืบหน้าแผนฟื้นฟู พร้อม “เพิ่มทุน-หาพันธมิตร” – ดึง “วิทัย รัตนากร” ทำแผนธุรกิจ มั่นใจปีหน้าพลิกกำไรรอบ 5 ปี