‘สรวงศ์’ ชี้ ท่องเที่ยวยังเป็นความหวังเศรษฐกิจไทย ลุยปรับเคพีไอใหม่เน้นทั้งรายได้และจำนวนคนเท่ากัน
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยในงานเสวนา ปลดล็อก อนาคตประเทศไทยสู้วิกฤติโลก จัดโดย บมจ.อสมท ช่วงแลกเปลี่ยนแนวคิดในช่วงที่โลกและประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการทางภาษี มาตรการด้านการเงิน การคลัง การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญว่า จากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวในปี67 ทำให้ตั้งความหวังว่าปี68 นี้นักท่องเที่ยวไทยจะกลับไปก่อนโควิดที่ 39 ล้านคน รายได้พุ่งขึ้น 3-3.5 ล้านล้านบาท โดยวางแผนจะนำอีเว้นท์ระดับโลกเข้ามาเสริมการท่องเที่ยว
แต่นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตัวเลขสำคัญของไทยหายไปทั้งโลก และผู้ประกอบการอิงกับจีนมากเกินไปจึงกระเทือนเศรษฐกิจไทยมากพอสมควร แต่ยังพบว่ามีประเทศอิสราเอลมาไทยเพิ่มขึ้น 70% ที่เข้ามาทดแทน และมีอังกฤษเข้ามา 30% สหรัฐ และอินเดียที่ครึ่งปีแรกนี้เข้ามาเกือบ 1 ล้านคน ทำให้มองว่าขณะนี้ภาคท่องเที่ยวยังคงเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย เพราะที่ผ่านมาได้มีการปรับเคพีไอจากเดิมที่เน้นตัวเลขนักท่องเที่ยวและไม่เน้นรายได้ จากนี้จะเน้นในสัดส่วนที่เท่ากัน ฉะนั้นแม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงก็ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้
นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณ 1.75 แสนล้านบาท มาช่วยกระตุ้นทั้งท่องเที่ยวในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพื่อให้เมืองไทยสามารถเที่ยวได้ทั้งปี ซึ่งทางการท่องเที่ยวเตรียมแถลงแผนปฏิบัติการ ททท. ปี 2569 งานในวันที่ 21 ก.ค.68 นี้โดยเน้นกระจายรายได้สู่เมืองรองที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคม
อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางปีนี้ไทยยังได้เป็นเจ้าภาพ วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2025 มี 32 ประเทศมาแข่งขันใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา และกรุงเทพฯ ซึ่ง ททท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ทำแพ็กเกจให้แฟนกีฬาเข้ามาเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้น และช่วงปลายปีนี้ไทยได้เป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยการทำงานร่วม กระทรวงวัฒธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะสร้างให้เป็นจุดขายของไทย
นายสรวงศ์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่อยากบอกคือ ปัจจุบันสปอร์ตกีฬา สปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์จะต้องทำงานร่วมกันสร้างเงินมหาศาล รวมไปถึงอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยที่ได้มีการขยับสัดส่วนกองถ่ายที่มาถ่ายทำในไทยใช้ทรัพยากรทั้งอุปกรณ์ไทย แรงงานไทย จาก 20% เพิ่มเป็น 30% และที่สำคัญเน้นให้ถ่ายทำในเมืองรอง ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะพยายามทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ ให้อุตกรรมภาพยนต์ไทยถ่ายในไทยไปฉายในต่างประเทศ