ไฟไหม้ Tomorrowland บทเรียนอีเวนต์ไทย ส่องรายได้ 2 ปีหมื่นล้าน ไทยเตรียมจัดปีหน้า
Tomorrowland งานดนตรีระดับโลกที่ไฟไหม้ระทึก ป๋าเต็ดชี้บทเรียนวงการอีเวนต์ไทย พร้อมย้อนดูความสำเร็จด้านรายได้ 2 ปีล่าสุด ก่อนที่จะไทยจะมี Tomorrowland ของตัวเองในเดือนธันวาคม ปี’69
จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2568 มีรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นเบลเยียม เกิดเหตุเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ที่เมนสแตนด์ (เวทีหลัก) ในงานเทศกาลดนตรี Tomorrowland 2025 ที่เมืองบูม ประเทศเบลเยียม ก่อนวันเปิดงาน 2 วัน ด้านป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ผู้จัดคอนเสิร์ตรายใหญ่และฉายาเจ้าพ่อเทศกาลดนตรี ก็โพสต์ FB ด้วยว่า “ท้าทายความสามารถในการแก้ปัญหาของผู้จัดงาน Tomorrowland มาก งานมีวันศุกร์นี้ แต่เวทีหลักไฟไหม้แบบเกลี้ยงทั้งเวทีในวันนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทีมงานครับ #Tomorrowland2025”
โดยในเวลาต่อมา ป๋าเต็ดได้ยกเหตุไฟไหม้ครั้งนี้ เป็นบทเรียนสำหรับอีเวนต์ไทยโดยโพสต์ FB ว่า
เหตุไฟไหม้ Main Stage Tomorrow Land ที่เบลเยียมเมื่อคืนนี้ เป็นงานหินสำหรับผู้จัดมาก งานจะเริ่มในวันศุกร์ แต่วันนี้ต้องเปิดให้คนที่เข้ามานอนในโซนแคมปิ้งเข้างานแล้ว เท่ากับต้องเปิดโอเปอเรชั่นพื้นที่ครึ่งหนึ่งของงานตามปกติ ในขณะที่ต้องหาวิธีแก้ไขให้กับพื้นที่ที่สำคัญที่สุดของงานภายในเวลาแค่ไม่ถึง 48 ชั่วโมง
จากประสบการณ์ที่เคยไปงานนี้มาหลายครั้งก็พอจะนึกภาพได้ว่ามันยากอย่างไรได้ตามนี้
– เวทีที่ไฟไหม้นี้คือพื้นที่หลักของงาน คนกว่าครึ่งงานจะมารวมตัวกันที่นี่ ถ้าพื้นที่นี้ใช้ไม่ได้ ในงานอาจจะมีที่ไม่พอสำหรับคนที่มาร่วมงาน
– เวทีนี้ออกแบบให้คนส่วนใหญ่เดินลอดปีกหนึ่งของเวทีเข้ามา ถ้าโครงสร้างเวทียังไม่ปลอดภัย แปลว่าทางเดินหลักจากเวทีอื่นจะใช้งานไม่ได้ ปัญหาเรื่อง Traffic Flow ในงานจะวิกฤตมาก เพราะเวทีนี้คั่นกลางระหว่างพื้นที่ส่วนที่เหลือของงาน กับโซน Camping ซึ่งมีคนอาศัยอยู่หลักหมื่น เหมือนเมืองใหญ่ที่ถูกบล็อกตรงกลางเมือง จริงอยู่อาจใช้เส้นทางอื่นลัดเลาะอ้อมเวทีนี้ได้ แต่นั่นหมายถึงการเอาผู้คนจำนวนมหาศาลไปเดินผ่านตรอกซอกซอย แทนที่จะได้เดินบนถนนหลัก
– นี่เรายังไม่รู้เรื่องทางกฎหมายที่นั่นอีก เจ้าหน้าที่อาจจะไม่อนุญาตให้ใครเข้าใกล้บริเวณนั้นเพราะต้องตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้างที่เหลืออยู่ แนวทางแก้ปัญหาแบบสร้างเวทีชั่วคราวแบบเร่งด่วนก็อาจจะทำไม่ได้ เพราะอย่างที่บอกในข้อที่แล้วว่าทางเดินหลักเข้าที่เวทีนี้ต้องเดินลอดส่วนหนึ่งของเวทีด้วย
– พื้นที่ว่างที่ใหญ่พอจะปรับเป็นเวทีหลักแบบชั่วคราวยังมีที่ฝั่ง Dreamville หรือ Capmping โซน แต่ปกติจะให้ผู้ที่มานอนเต็นท์เท่านั้นจึงจะเข้าได้ ก็ต้องปรับแผนการจัดการแบบวุ่นวายมาก และยังมีปัญหาเดิมคือเส้นทางหลักที่จะไปที่โซนกางเต็นท์ก็ต้องผ่านพื้นที่เวทีหลักอยู่ดี
– โชคยังดีอยู่บ้างที่ไม่มีผู้บาดเจ็บหนักหรือเสียชีวิต การประกาศไม่แคนเซิลจึงทำได้ และงานจัดแบบ 2 วีกเอนด์ หรือ 2 รอบ แปลว่าสำหรับสุดสัปดาห์นี้ก็ต้องหาวิธีแก้แบบเร่งด่วนไปรอบหนึ่งก่อน ผ่านวันอาทิตย์นี้ไปแล้วยังมีเวลาอีก 4 วันก่อนจะถึงงานสัปดาห์หน้า ก็อาจจะใช้วิธีแก้ปัญหาที่ต่างไป อะไรที่ทำไม่ทันวีกนี้ก็เอาไปใช้ในวีกหน้า
บอกตรง ๆ ยังนึกไม่ออกว่าจะทำยังไงเหมือนกัน ก็ได้แต่ส่งกำลังใจไปให้ พร้อมทั้งรอฟังวิธีแก้ปัญหาของทีมงานงานนี้ที่ผมถือว่าเป็นทีมงานที่เก่งที่สุดในโลกทีมหนึ่ง เคยมีโอกาสได้พบปะกับทีมงานทุกฝ่ายแล้วก็ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะช่วยกันฝ่าวิกฤตนี้ไปได้
เหลือคำถามใหญ่ ๆ อีก 1 คำถาม ด้วยทีมงานระดับโปรขนาดนี้ ปล่อยให้ไฟไหม้เวทีหลักและเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดของงานได้อย่างไร เป็นเรื่องที่คนทำงานด้านนี้ในบ้านเราควรเฝ้าดูผลการสืบสวนเพื่อนำมาปรับใช้ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ในงานของเราต่อ ๆ ไป
เป็นกำลังใจให้ทีมงาน #Tomorrowland2025 ครับ
ย้อนดูความสำเร็จ Tomorrowland กับรายได้ 2 ปีล่าสุด
(ทูมอร์โรว์แลนด์) หนึ่งในงานเทศกาลดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ หรือ EDM ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นระยะเวลาราว 1 สัปดาห์ ณ เมืองบูม ประเทศเบลเยียม โดยมีขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2005
ทุกครั้งของการจัดเทศกาลนี้ บัตรที่ต้องจองล่วงหน้าจะหมดลงอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาที ทำให้ Tomorrowland เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่หลั่งไหลมายังเบลเยียมเพื่อร่วมฟัง EDM การแสดงสุดอลังการ กองทัพ ดีเจ. และศิลปินอีกมากมาย เรียกว่าปาร์ตี้กันแบบสุดเหวี่ยง
ราคาบัตรของ Tomorrowland มีตั้งแต่ 3 พันกว่าบาทขึ้นไปจนถึง 2 แสนบาท ซึ่งราคาบัตรแต่ละประเภทจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมงานเทศกาลต่างกันออกไป โดยแต่ละปีจะมีผู้ร่วมงานตลอดทั้งสัปดาห์กว่า 2 แสนคน จาก 200 ประเทศเลยทีเดียว
ข้อมูลจากเว็บไซต์ WeAreOne.World ระบุถึงงบการเงินของบริษัทผู้จัดเทศกาล Tomorrowland ของเบลเยียมว่า ในปี 2022 รายได้จากการจัดงานอยู่ที่ 164 ล้านยูโร (6,256 ล้านบาท) ขณะที่ในปี 2023 มีรายได้อยู่ที่ 129 ล้านยูโร (4,921 ล้านบาท) โดยคิดเป็นกำไรจากการจัดงานอยู่ที่ 8.4 ล้านยูโร หรือประมาณ 321 ล้านบาท
ซึ่งเทศกาลนี้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นและระดับชาติ ในปี 2023 ได้มีการจัดซื้อสินค้าและบริการจากซัพพลายเออร์ในเบลเยียมมากกว่า 1,200 ราย การซื้อเหล่านี้มีส่วนสนับสนุนการจ้างงานพนักงานประจำเต็มเวลา 557 คน และสวัสดิการมูลค่า 37 ล้านยูโร สำหรับเศรษฐกิจของเบลเยียม
สุดสัปดาห์ของเทศกาลทั้ง 2 สัปดาห์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเกือบ 281 ล้านยูโร ส่งผลให้มีการจ้างงานเต็มเวลาเพิ่มขึ้น 1,900 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังเฟื่องฟูด้วยผู้เข้าร่วมงานเทศกาลจำนวนมากที่พักค้างคืนในบรัสเซลส์และพื้นที่โดยรอบบูม เช่น แอนต์เวิร์ปและเมเคอเลน ในแต่ละสุดสัปดาห์ ผู้เข้าร่วมงานเทศกาลกว่า 200,000 คนจะได้รับการต้อนรับในงาน Boom โดยประมาณ 20,000 คน ที่ซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยว พักในโรงแรม และอาจไปเยือนเมืองอื่น ๆ ในเบลเยียมด้วย
“อิ๊งค์” ดีลผู้บริหาร TL สานฝัน “เศรษฐา” ดัน Tomorrowland Thailand
หลังจากปลายเดือนมิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้พูดคุยกับ Bruno Vanwelsenaers ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ Mr.Filip Teelinck ผู้บริหารระดับสูงจาก Tomorrowland เทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางความเป็นไปได้ในการนำงานนี้มาจัดที่ประเทศไทย
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านอุตสาหกรรมดนตรี ภาพยนตร์ และศิลปะ ให้เกิดวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการนี้ได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว ผู้จัดเลือก จ.ชลบุรี สถานที่จัดงาน บนพื้นที่ของภาคเอกชน
นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า การจัดงานจะมีขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2569 เป็นการแสดงต่อเนื่อง 3 วัน พร้อมลงนามสัญญาขั้นต่ำ 5 ปี เพื่อสร้างความต่อเนื่องและผลักดันประเทศไทยสู่เวทีระดับโลกด้านอุตสาหกรรมอีเวนต์
ปี’66 เศรษฐาแย้มข่าวดีสำหรับแฟนคลับ Tomorrowland
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 หลังจากที่ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้โพสต์ข้อความบน X (ทวิตเตอร์) ว่า “แฟน ๆ EDM อยากไปเทศกาลดนตรี Tomorrowland มั้ยครับ เมื่อคืนมีนัดทานข้าวกับทีมงาน เรารอไปสนุกกับเทศกาลระดับโลกพร้อมกันนะครับ ไม่ใช่แค่ปีเดียว แต่อาจจะถึง 10 ปีเต็มเลย”
เพียงโพสต์เดียวเท่านั้นก็ทำเหล่าสาวก EDM หรือคนที่รู้จัก “Tomorrowland” ฮือฮากันยกใหญ่ ส่วนคนที่ไม่รู้จักก็พลอยสงสัยไปตามกันว่า Tomorrowland คืออะไร และหลังจากนั้นชื่องานดังกล่าวก็ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ไฟไหม้ Tomorrowland บทเรียนอีเวนต์ไทย ส่องรายได้ 2 ปีหมื่นล้าน ไทยเตรียมจัดปีหน้า
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net