ประธานศาลรัฐธรรมนูญยอมรับควรปรับปรุงที่มาตุลาการ รอพ้นตำแหน่งแล้วจะพูดเต็มที่ ชี้เป็นหน้าที่รัฐสภา
วันนี้ (14 กรกฎาคม) ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่า ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรปรับปรุงหรือไม่ อย่างไร โดยยอมรับว่า “ก็ควรจะปรับปรุงครับ แต่อย่างไรผมพูดไม่ได้ ให้ผมพ้นตำแหน่งแล้วผมจะพูด แต่ควรจะปรับปรุง”
นครินทร์กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ตนเองไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว เดี๋ยวรอให้พ้นตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะพูดให้เต็มที่ว่าควรจะปรับปรุงอย่างไร
“ผมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มา 2 ฉบับ ผมร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ผมร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2558 ผมรู้ว่ารัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร แต่จะปรับปรุงอย่างไรผมขอไม่พูดแล้วกัน” นครินทร์กล่าว
สื่อมวลชนถามว่า พรรคประชาชนมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาและการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นครินทร์ระบุ ก็ดี เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เป็นเรื่องที่ดี ก็ขอให้ทำไป
อย่างไรก็ตาม นครินทร์ไม่ขอวิจารณ์ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน ที่เสนอให้ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากความเห็นชอบของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จากเดิมที่เป็นวุฒิสภาให้ความเห็นชอบเพียงอย่างเดียว โดยนครินทร์ให้ความเห็นว่า คุณสมบัติที่มาจะต้องศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย เพราะรูปแบบขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญในโลกนี้มีหลายรูปแบบ ในโลกนี้มีศาลที่รับคดีรัฐธรรมนูญ 138 ประเทศ ขณะที่บางประเทศไม่รับวินิจฉัยคดีรัฐธรรมนูญเลย แต่ใน 138 ประเทศก็มีหลายรูปแบบ โดยในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นคดีรัฐธรรมนูญที่อยู่ในแผนกหนึ่งของศาลฎีกา
ขณะเดียวกัน บางประเทศมีศาลรัฐธรรมนูญแยกออกมาเป็นการเฉพาะ ประมาณ 70 ประเทศ และมีการแยกเฉพาะใน 3-4 รูปแบบ ซึ่งเรื่องนี้มีความซับซ้อนอยู่ แต่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ควรดำเนินการ