วิกฤต “ช็อกโกแลต” อนาคตราคาพุ่ง เพราะโลกกำลังพัง
ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่แทรกซึมเข้าถึงความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลก รายงานฉบับใหม่โดยที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม Foresight Transitions ได้สะท้อนภาพที่น่ากังวลของ "ความเปราะบางเชิงโครงสร้าง" ในระบบอาหารของสหภาพยุโรป ผ่านมุมมองของวัตถุดิบที่คนทั่วโลกหลงใหลนั่นก็คือ “โกโก้”
แม้ยุโรปจะสามารถผลิตอาหารหลายชนิดได้เอง แต่ในความเป็นจริง ระบบอาหารของภูมิภาคยังคงพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าอย่างสูง โดยเฉพาะวัตถุดิบหลัก 6 ชนิด ได้แก่ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพด ซึ่งมากกว่าสองในสามของปริมาณนำเข้าทั้งหมดในปี 2023 มาจากประเทศที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศที่กำลังเสื่อมโทรม
ในกรณีของโกโก้ พบว่ามีตัวเลขที่น่าตกใจคือ 96.5% ของโกโก้ที่อียูนําเข้า มาจากประเทศที่มีความพร้อมด้านการปรับตัวต่อวิกฤติภูมิอากาศในระดับต่ำ ขณะที่ 77% มาจากพื้นที่ที่ความหลากหลายทางชีวภาพเสื่อมถอยอย่างชัดเจน เช่น หลายประเทศในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งปลูกโกโก้หลักของโลก
โกโก้ไม่ได้เป็นเพียงวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมขนมหวาน หากแต่เป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนความไม่มั่นคงของระบบอาหารโลก ในขณะที่ผู้บริโภคในยุโรปยังคงบริโภคช็อกโกแลตในชีวิตประจำวัน ฟาร์มโกโก้จำนวนมากกลับเผชิญภาวะภัยแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และการลดลงของแมลงผสมเกสร ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่ล้วนผูกโยงกับภาวะโลกร้อนและการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ จะเห็นว่าฟาร์มที่ขาดความหลากหลายทางชีวภาพเปรียบเสมือนเรือที่ไร้เสื้อชูชีพ พวกเขาขาดเครื่องมือในการปรับตัวต่อความผันผวนของสภาพอากาศ ทำให้ผลผลิตตกต่ำ และห่วงโซ่อุปทานล้มครืนเป็นโดมิโน
รายงานเสนอว่า อุตสาหกรรมอาหารควรลงทุนใน “การลดความเสี่ยงเชิงรุก” เช่น การสนับสนุนฟาร์มในประเทศผู้ผลิตให้สามารถปรับตัวและฟื้นฟูระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงเพื่อจรรยาบรรณหรือ ESG (Environmental, Social and Governance) เท่านั้น แต่เพื่อความอยู่รอดของห่วงโซ่อุปทานเอง เช่น การจ่ายเงินอย่างเป็นธรรมให้เกษตรกร เพื่อให้พวกเขามีทรัพยากรลงทุนในฟาร์มของตน
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระดับรัฐบาลก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ โดยหลายประเทศผู้ผลิตต้องการเข้าถึงเงินทุนด้านภูมิอากาศจากนานาชาติ เช่น กรณีของยูกันดา ที่กำลังประสบกับฤดูฝนที่คาดเดาไม่ได้ คลื่นความร้อน และภัยแล้ง ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตกาแฟ
วิกฤติช็อกโกแลตไม่ใช่เพียงเรื่องของรสชาติที่หายไป แต่เป็นสัญญาณเตือนที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของระบบอาหารโลก อุตสาหกรรมที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจควรสนับสนุนระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุปสงค์ หากเราไม่เร่งลงมือจัดการปัญหานี้ตั้งแต่วันนี้ วันหนึ่ง "ช็อกโกแลต" อาจกลายเป็นเพียงความทรงจำในยุคที่ระบบอาหารของโลกยังไม่พังทลายลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักวิจัยชี้ “อากาศร้อน” คือ “ฆาตกรเงียบ” ในยุโรป แค่ 10 วัน เสียชีวิตพุ่ง 2,300 ราย
- เข้าสู่ครึ่งหลังก.ค. เตรียมรับมือฝนหนักทั่วไทย
- ฝนตกหนักทั้งสัปดาห์ เหนือ อีสาน ตะวันออก ใต้ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน
- พยากรณ์อากาศวันนี้ 14 กรกฎาคม 2568 ฝนฟ้าคะนองทั่วไทย กทม.ตก 60%
- น้ำท่วม “เชียงราย” หลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย