‘ทรัมป์’ ไม่ยอมไทย KKP วิเคราะห์ภาษี 36% กดดันไทยเจรจารอบสอง
ประเทศไทยโดนสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษี 36% จัดอยู่ใน 14 ประเทศแรกที่ได้รับจดหมายแจ้งภาษีศุลกากร จากตอนแรกที่คาดหวังว่าการเจรจาจะช่วยลดภาษีลงได้ แต่ยังคงถูกเก็บเท่าเดิม
ที่สำคัญคือไทยถูกเก็บภาษีในระดับที่สูงกว่าคู่แข่งอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย เหตุผลเพราะอะไร แล้วผลกระทบที่ตามมาจะเป็นแบบไหน?
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ภาษี 36% ถือว่าเซอร์ไพรส์มากและค่อนข้างร้ายแรง เราไม่รู้แน่ชัดว่าสหรัฐฯ ต้องการอะไร แต่ที่แน่ๆ คือรู้ว่าสหรัฐฯ อยากใช้ตำแหน่งในการเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก
เพราะถ้าไปดูการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่ต่อปีสูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขาดดุลที่มากที่สุดในโลก และการที่ขาดดุลเยอะขนาดนี้มันต้องมีการเอาเปรียบ และทรัมป์ก็อยากเข้ามาแก้ไขการโดนเอาเปรียบตรงนี้โดยการตั้งกำแพงภาษีขึ้นมา และอีกทางก็คือเพื่อสร้างรายได้กลับเข้าสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการคลังอยู่ด้วย
ตอนนี้ไทยและอีก 13 ประเทศ มองว่าเป็นกลุ่มแรกที่การเจรจาอาจจะไม่สำเร็จหรืออาจไม่ได้ไปต่อ และก็น่าจะมีกลุ่มที่สองที่จะถูกส่งจดหมายไปถึงในอีกสักระยะน่าจะราวๆ 100 ฉบับ และกลุ่มสุดท้ายที่กำลังเจรจากันอยู่ เช่น ยุโรปหรืออินเดีย
[ ถ้าเก็บ 36% จริงไทยจะเป็นยังไง? ]
ในกรณีที่มีการเก็บภาษี 36% ‘ดร.พิพัฒน์’ มองว่ากลุ่มที่น่าจะกระทบมากที่สุดคือ การเกษตร แม้ว่าถ้าเทียบกับ GDP แล้วจะมีสัดส่วนแค่ 8% แต่ถ้าดูการจ้างงานที่มีมากถึง 30% ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจไม่เยอะแต่ผลกระทบต่อคนน่าจะเยอะมาก ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมหมูน่าจะมีคนในนั้นราวๆ แสนคน และยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันอีก
ในด้านผลกระทบต่อ GDP เราประเมินว่าถ้ามีการเก็บภาษี 36% จะกระทบ GDP ให้ลดลงราว 0.4-0.5% ซึ่งปีนี้เหลืออีกครึ่งปี ดังนั้นจะโดนแค่ช่วงหลังไม่ได้โดนทั้งปี 2568 ผลกระทบคาดว่าจะอยู่ที่ -0.2% แต่ถ้าลากยาวไปถึงปีหน้าทั้งปีคงกระทบหนักกว่านี้มากแน่นอน
ทั้งนี้ ในความเป็นจริงเชื่อว่าในหลายภาคส่วนอาจจะต้องเริ่มพูดถึงการเปิดเสรี การลดการช่วยเหลือ การคุ้มครอง เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และได้ปรับตัวตามสถานการณ์
[ ต้องทำยังไงสหรัฐฯ ถึงจะยอมลดภาษี ]
‘ดร.พิพัฒน์’ เล่าถึงรีพอร์ตของสหรัฐฯ ว่าเคยโน๊ตไว้ว่าไทยมีประเด็นกีดกันทางการค้าหลายเรื่อง หรือพูดง่ายๆ คือไทยเก็บภาษีนำเข้าจากสหัฐฯ สูงมากกว่าที่สหรัฐฯ เก็บกับไทยมาตั้งนานแล้ว
อุตสาหกรรมที่ไทยเก็บเยอะที่สุดคือ การเกษตร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ธัญพืช หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั้งหลายที่อาจจะโดนภาษีอยู่ที่ 30-50%
รวมถึงประเด็นค่าตรวจสินค้านำเข้าต่างๆ หรือการคอรัปชั่นที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และยังพูดถึงมาตรการทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหมูที่ไทยเคยไปเคลมว่ามีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ เป็นต้น
และบางคนมีการพูดถึงมาตรการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการค้าเลย เช่น การร่วมมือกับบางประเทศที่อาจทำให้สหรัฐฯไม่ยอมลดภาษีหรืออาจจะเพิ่มภาษีมากขึ้นด้วยซ้ำ
ตอนนี้เรารู้แค่ว่าเรามีปัญหาหรือมีประเด็นอะไรกับสหรัฐฯ บ้างแต่คำถามคือแล้วถ้าเราทำตามสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการได้ทั้งหมด สหรัฐจะยอมลดภาษีให้ไทยไหม? ในส่วนนี้ก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันเพราะเราไม่รู้ว่าแท้จริงสหรัฐฯ ต้องการอะไร
[ เดินเกมเจรจาอีกรอบ ]
อย่างไรก็ตาม ‘ดร.พิพัฒน์‘ มองว่าภาษีที่ 36% นี้น่าจะยังไม่ใช่สุดท้าย แต่น่าจะประกาศเพื่อเรียกให้มีการเข้าไปเจรจาใหม่อีกครั้ง และแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ เอาจริงถ้ายังไม่มีการเจรจาข้อตกลงที่ถูกใจ เชื่อว่าตอนนี้ประตูยังไม่ได้ปิด ยังมีเวลาให้สามารถเข้าไปเจรจาได้เนื่องจากมีการเลื่อนเวลาจากวันที่ 9 ก.ค. 68 ไปเป็น 1 ส.ค. 68 แทน
ในท้ายที่สุด คงต้องไปดูว่าสหรัฐฯ ต้องการอะไร เราต้องทำเท่าไหร่ถึงจะพอ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวไปเป็นวิเคราะห์จากสถานการณ์ภาพรวม คนที่รู้ดีที่สุดคือคนที่อยู่ในห้องเจรจา ซึ่งการเจรจาถือเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะเกี่ยวข้องกับประโยชน์กับผลประโยชน์ ชีวิตคน อุตสาหกรรมและแรงงานจำนวนมาก