เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หนุนใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานแถลงข่าวหัวข้อ“เจาะลึกธุรกิจรถยนต์ใช้แล้ว รวมพลังฝ่าวิกฤต” ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกระแสการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเกิดการชะลอตัว และจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างเร่งด่วน
หนึ่งในแนวทางสำคัญคือ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เน้นการใช้ ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ หรือ Local Content ให้มากขึ้น เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
กระทรวงการคลังจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ โดยจะเชื่อมโยงกับสัดส่วนของการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ กล่าวคือ รถยนต์ที่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศในสัดส่วนสูง จะได้รับอัตราภาษีที่เป็นมิตรหรือจูงใจ ในขณะที่รถที่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศต่ำ อาจต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น แนวทางนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตหันมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างงานและเสริมความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมไทย
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขและโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา คาดว่าจะกำหนดเป็น “อัตราภาษีแบบขั้นบันได” โดยอิงตามสัดส่วนของ Local Content ในแต่ละคัน และอยู่ระหว่างพิจารณาว่ามาตรการนี้จะครอบคลุมไปถึงยานยนต์ไฟฟ้าด้วยหรือไม่
ในส่วนของรถยนต์โดยสารหรือ Passenger Car นั้น กระทรวงการคลังได้มีการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสำหรับรถประเภท P-HEV ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิตในประเทศ ขณะเดียวกัน รถยนต์ HEV ยังจะได้รับการสนับสนุนต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค
นายเผ่าภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลต้องการเห็นรถยนต์ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น EV หรือรถยนต์สันดาปภายใน ต้องมีการผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพราะหากการผลิตในประเทศต่ำ ย่อมหมายถึงผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับก็ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในกรณีของ EV ที่ปัจจุบันยังมีสัดส่วนการผลิตในประเทศที่น้อย
นอกจากนี้ ความคืบหน้าโครงการ “รถเก่าแลกรถใหม่” ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด โดยจะมีการอัปเดตความคืบหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป
สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า“เนต้า” ที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตชดเชยตามข้อตกลงภายใต้มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.0 ได้นั้น ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) โดยนายเผ่าภูมิระบุว่า หากเข้าสู่กระบวนการเจรจาแล้ว น่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ในเวลาไม่นาน