"ทวี" ลงพื้นที่ภูเก็ต เปิดโครงการเสริมทักษะ 3 ภาษาเยาวชน
20 กรกฎาคม 2568 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรรม เป็นประธานการอบรม “โครงการส่งเสริมทักษะด้านภาษาเพื่อการสื่อสารและจริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ต” ที่ โรงแรมศุภาลัยชีนิคเบย์ รีสอร์ท แอนต์ สปา บ้านอ่าวปอ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
โดยมี นายกสมาคมฟัรดูอัยน์คุรุสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต ข้าราชการ บุคลากรทางการศึกษา ให้การต้อนรับและร่วมเข้าอบรมอย่างคึกคัก
วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อส่งเสริมทักษะด้านภาษาการสื่อสารและจริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ต
พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอนหนึ่งว่า ภาษาอังกฤษ ถือเป็นภาษาทางการที่ใช้สื่อสารทั่วโลก และเพิ่มโอกาสในการทำงานในอนาคต ภาษาอาหรับ เป็นภาษาที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากกว่า 22 ประเทศทั่วโลก และภาษามลายู ก็มีการใช้กันในหมู่ประชากรโลกมากกว่า 350 ล้านคน การที่เด็กๆ และเยาวชนของเรามีความถนัดในภาษาเหล่านี้ ก็จะส่งผลดีกับตนเองและส่งผลถึงศักยภาพของประเทศในระยะยาว
พ.ต.อ.ทวี ยังได้กล่าวถึง จ.ภูเก็ต ด้วยว่า เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สะท้อนความเป็นพหุสังคมระดับโลก เรามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ตในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 กว่า 9.1 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละ 50,000 คน เฉลี่ยวันละมากกว่า 300 เที่ยวบิน และเป็นเที่ยวบินจากต่างประเทศกว่า 90%
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของ จ.ภูเก็ต ในฐานะเมืองแห่งการท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงกับโลกในทุกมิติ ชุมชนมุสลิมในภูเก็ตจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะแสดงบทบาทในฐานะเจ้าของบ้านที่ดี ควบคู่ไปกับการรักษาอัตลักษณ์และการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจของมุสลิมภูเก็ตและมุสลิมไทยในภาพรวม คือเรื่องข้อเสนอทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับระบบการเงินปลอดดอกเบี้ย ซึ่งสังคมไทยเรามีพัฒนาการด้านการเงินอิสลามมากว่า 30 ปี ตั้งแต่การก่อตั้งสหกรณ์อิสลามแห่งแรกในปี พ.ศ.2527 การเปิด “อิสลามิก วินโด” (Islamic Window) ในธนาคารพาณิชย์ในปี พ.ศ.2541 และการก่อตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ.2546
ข้อมูลปี 2567 ชี้ว่า มูลค่าสินทรัพย์รวมของอุตสาหกรรมการเงินอิสลามในไทยมีมากกว่า 4,358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 14,000 ล้านบาท และเติบโตเฉลี่ย 5.56% ต่อปี
ขอยืนยันว่าโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนมุสลิมภูเก็ตและมุสลิมไทยในภาพรวมจะได้รับการสนับสนุนอย่างดีภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล โดยจะคำนึงถึง 3 เสาหลัก ได้แก่ 1.ปลอดดอกเบี้ย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงทุนอย่างเท่าเทียม 2.เศรษฐกิจฮาลาล ครอบคลุมกระบวนการผลิตและบริการที่สอดคล้องกับหลักศาสนา และ 3.ระบบซะกาต (หลักปฏิบัติทางศาสนาอิสลามที่กำหนดให้มุสลิมผู้มีฐานะทางการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนด) เพื่อกระจายความมั่งคั่ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนในชุมชน