“กระทรวงศึกษา” ชงตั้ง “สหกรณ์กลาง” รวมหนี้ – ปรับโครงสร้างค่าตอบแทน อาชีพครู
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา และติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา ที่โรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนายสมชาย ลีหล้าน้อย ผู้ว่าราชการจ.นครศรีธรรมราช นายเฉลิมชัย จิตรสำรวย ผู้อำนวยการโรงเรียนฉวางฯ พร้อมด้วยครู และนักเรียนให้การต้อนรับ
โดย นางนฤมล ระบุขณะที่ลงพื้นที่ว่า มีเรื่องที่ต้องเร่งผลักดัน คือ การลดภาระครู ซึ่งเชื่อมโยงกับการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ โดยที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับนายธนู ขวัญเดช เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ทะลุ เพื่อให้ครูไม่ต้องไปทำงานอื่น ที่ไม่ใช่หน้าที่สอน และจากการรับฟังปัญหา ก็พบว่า เป็นเรื่องจริง ที่ครูต้องไปทำหน้าที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นพัสดุ การเงิน การทำงานเอกสารต่าง ๆ ดังนั้น จึงต้องมาช่วยกันดูว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร
ส่วนปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด 1.4 ล้านล้านส่วนใหญ่เป็นครูเกษียณ ที่เงินวิทยฐานะหาย เหลือแต่เงินบำนาญ รายได้ลดลง หนี้สินที่มีก่อนเกษียณฯ ก็ผ่อนไม่ไหว กลายเป็นปัญหาหนี้เสีย สมัยรัฐบาลหนึ่งเคยมีการรวมหนี้ ไปไว้ที่ธนาคารออมสิน กว่า 4 แสนล้านบาท แต่ครูก็ยังไปก่อหนี้เพิ่ม ส่วนใหญ่จะไปกู้ที่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ทำให้หนี้สินส่วนใหญ่ไปอยู่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู กว่า 9 แสนล้านบาท เหลืออยู่ที่ ธนาคารออมสิน 3.5 แสนล้านบาท ที่เหลือกระจายอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย กว่า 6 หมื่นล้าน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ จากการกู้ซื้อบ้าน กว่า 6 หมื่นล้าน และยังมีสถาบันการเงินอื่นๆ อีก
ที่ผ่านมาได้เชิญ นายพีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สถาบันการเงิน ผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มาพูดคุย ว่า จะสามารถทำการรวมหนี้อีกครั้งได้หรือไม่ โดยที่การรวมหนี้ครั้งนี้จะ เป็นการโอนทั้งหนี้ทั้งทุน มาไว้ที่สหกรณ์ใหม่ ที่เราจะตั้งขึ้น โดยอาจจะเป็นในรูปของสหกรณ์สกสค. ซึ่งต้องไปดูข้อกฎหมาย ว่าต้องปรับแก้ตรงไหนอย่างไร ถ้าเรามี “สหกรณ์กลาง” ซึ่งที่จริงอยากจะเรียกว่า “ธนาคารครู” ที่จะเปิดเป็นทางเลือกให้ครูที่เป็นหนี้ และอยากจะปรับโครงสร้างหนี้ ให้มารวมที่สหกรณ์กลาง โดยรัฐบาล จะหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ มาให้เป็นขั้นบันได
ซึ่งถ้าทำได้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของครู ที่ปัจจุบันจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ทั้งหมดนี้ยังเป็นตุ๊กตาที่ ต้องหารือเพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมต่อไป นอกจากนี้ ยังต้องทำเรื่องสวัสดิการครู ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ที่จะต้องจัดทำให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน