ชัดแล้ว "แผ่นดินไหวเกาะนิโคบาร์" ทำให้เกิด สึนามิฝั่งไทย จริงไหม
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า
"แผ่นดินไหวถี่ๆ ช่วงนี้ โดยเฉพาะที่เกาะนิโคบา ไม่ได้จะทำให้เกิดสึนามิครับ"
มีรายงานข่าวถึง การเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวานนี้ ที่หมู่เกาะนิโคบา ของอินเดีย ขนาด 4.8 ตามมาด้วยแผ่นดินไหวขนาด 4.7 ทางตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา , ขนาด 4.1 ที่เวียดนามและเมียนมา
โดยทางรายการระบุด้วยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่หมู่เกาะนิโคบา เกิดขึ้นถี่ ขนาด 3.4-4.7 มา กว่า 54 ครั้งแล้ว ซึ่งมีความเห็นจากนักวิชาการว่า อาจจะเป็นผลจากภูเขาไฟใต้น้ำ ที่เกิดการปะทุหรือระเบิดขึ้น จนเกิดแรงสั่นสะเทือน จากแผ่นดินไหวขนาด 4 ขึ้นไป ซึ่งถ้าเกิดภูเขาไฟใต้ทะเล ในแถบอันดามัน ระเบิดขึ้นมาจริงๆ ก็อาจเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ สูงกว่าตึก 3 ชั้น หรือไปถึง 7-8 ชั้น เข้ามาสู่จังหวัดชายฝั่งในไทยได้ !?
แต่ๆๆ ไม่ต้องตกใจกลัวกันไปขนาดนั้นครับ .. ทางกรมทรัพยากรธรณี และทางผุ้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหว บอกว่า ที่มีแผ่นดินไหวถี่ๆ แถบหมู่เกาะนิโคบาร์ ช่วงนี้ ไม่ได้เกิดจากภูเขาไฟใต้ทะเล (ซึ่งอยู่คนละจุดกัน ห่างกันมาก) แต่เป็นการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน บนพื้นทะเล
สรุปยืนยันว่า ไม่ทำให้เกิดสึนามิขึ้นในฝั่งทะเลอันดามัน ครับ
อ่านรายละเอียดของข่าว ได้ด้านล่างนี้ครับ
ป.ล. โดยทั่วไปแล้ว แผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดสึนามิได้นั้น จะต้องมีความรุนแรงอย่างน้อยขนาด 6.5-7 ขึ้นไป (พวกขนาด 4-5 นี่ ถือว่าเล็กมาก) ที่ระดับตื้น (คือมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ที่ความลึกจากผิวดินใต้ทะเล ไม่กี่สิบกิโลเมตร) และต้องเกิดจากการเคลื่อนตัวของพื้นทะเล ในแนวตั้ง (ไม่ใช่ในแนวนอน) จนทำให้เกิดการกระเพื่อมของน้ำทะเล ยกตัวขึ้นมาครับ
------------------
(ข่าวกรมทรัพยากรธรณี) กรมทรัพยากรธรณี ยืนยัน ยังไม่เกิดเกิดสึนามิในไทย ฝั่งทะเลอันดามัน หลังเกิดแผ่นดินไหว หมู่เกาะนิโคบาร์ ต่อเนื่อง ห่างพังงา เฉลี่ย 450 กม. ก็ตาม
วันนี้ (3 ก.ค.68) กรมทรัพยากรธรณี สรุปการเกิดแผ่นดินไหว หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ช่วง 24 มิ.ย. – 1 ก.ค 68 รวม94 ครั้ง มีขนาดระหว่าง 3.4–4.9 ดังนี้
#เหตุการณ์กลุ่มแผ่นดินไหว : วันที่ 24 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2568 (ข้อมูล ณ เวลา 13.00 น.) เกิดกลุ่มแผ่นดินไหว (Earthquake swarms) จำนวน 94 ครั้ง ขนาดระหว่าง 3.4–4.9 ในทะเลอันดามัน บริเวณด้านตะวันออกของหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย แผ่นดินไหวมีขนาดเล็ก (Minor) ถึงค่อนข้างเล็ก (Light) และไม่มีแผ่นดินไหวหลักเกิดขึ้น
เป็นลักษณะของกลุ่มแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดพังงา ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 450 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากภูเขาไฟใต้ทะเลประมาณ 100 กิโลเมตร (สัญลักษณ์รูปสามเหลี่ยมบนแผนที่)
#สาเหตุ : กลุ่มแผ่นดินไหวนี้เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนสุมาตราในทะเลอันดามัน
#ไม่ทำให้เกิดสึนามิ : เนื่องจากกลุ่มแผ่นดินไหวนี้มีขนาดเล็กถึงค่อนข้างเล็ก ไม่มีรายงานผลกระทบในประเทศไทย และที่สำคัญ เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนในแนวระนาบจึงไม่มีการยกตัวของมวลน้ำ ซึ่งไม่ใช่การเลื่อนแบบมุดตัวเหมือนเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547
------------------
(ข่าวผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว) นักแผ่นดินไหววิทยาอธิบายสาเหตุแผ่นดินไหวหมู่เกาะนิโคบาร์เกิดถี่ เหตุเป็นรอยแยกพื้นทะเล ยืนยันไม่เกิดสึนามิอันดามัน คนละจุดภูเขาไฟใต้ทะเล
สืบเนื่องจากการรายงานข่าวและเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2568 ซึ่งห่างจากพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันราว 450-500 กิโลเมตรทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ
ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา อดีตอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์กับ PSU Broadcast ถึงข้อมูลเบื้องต้นของชุดเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว
#แผ่นดินไหวถี่ขนาดปานกลาง #ไม่เกิดสึนามิ
ดร.ไพบูลย์กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณและช่วงเวลานี้เรียกว่า ‘Swarm Earthquake’ หรือแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างถี่ๆ ขนาด 3-5 ซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณรอยแยกของพื้นทะเล (Spreading Floor) ในพื้นที่แผ่นเปลือกโลกที่มีความบาง
กระบวนการที่เกิดขึ้นคือ เมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัว แมกมาใต้แผ่นเปลือกโลกจะพุ่งขึ้น และเมื่อสัมผัสกับน้ำทะเลที่มีความเย็นจะค่อยๆแข็งตัวและเกิดเป็นสันเขากลางทะเล (Ridge) ในการพุ่งทะลักของแมกมานี้ส่งผลให้เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ถี่ ในช่วงระยะเวลาสั้น
แผ่นดินไหวลักษณะนี้เกิดย้อนหลังในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เช่น 1 เมษายน 2562, 4 กรกฎาคม 2565, 9 เมษายน 2566, 23 มกราคม 2567 และล่าสุดในวันที่ 24 มิถุนายน 2568 นั่นเอง
ต่อกรณีความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์สึนามินั้น ดร.ไพบูลย์กล่าวว่า แผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ในครั้งนี้เป็นการเคลื่อนตัวในแนวราบ และเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง
ซึ่งการเกิดสึนามินั้นต้องเกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 7 ขึ้นไปและต้องเป็นการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในแนวดิ่ง
#แผ่นดินไหวส่งผลภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุ?
บริเวณสุมาตรา-อันดามันมีแนวเทือกภูเขาไฟใต้ทะเล (submarine volcano) ซึ่งกรณีเพจหนึ่งกล่าวว่า หากภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด สามารถทำให้เกิดสึนามิได้ และเป็นสึนามิที่สูงกว่าที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2547 นั้น นั้น
ดร.ไพบูลย์กล่าวว่า เนื่องจากเนื่องจากพื้นที่ภูเขาไฟใต้ทะเล (ละติจูด 8 องศา) ซึ่งไม่เกิดการปะทุและสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดการปะทุนั้นอยู่กันคนละพื้นที่เกิดแผ่นดินไหว Swarm Earthquake ในครั้งนี้ (ละติจูด 9.3-9.4 องศา)
#การตรวจติดตามการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล
นักแผ่นดินไหววิทยากล่าวว่าการตรวจติดตามการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเลนั้นสามารถทำด้วยเครื่องมือ 2 ชนิด ได้แก่
1. การวัดคลื่นแผ่นดินไหวที่ติดตั้งบนพื้นทะเล (ocean-bottom seismometer) ซึ่งมีใช้งานในประเทศ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา
2. Hydrophone - เพื่อตรวจวัด infrasound หรือ เสียงที่หูมนุษย์ไม่ได้ยิน เนื่องจากมีความถี่ต่ำ หากจะติดตามการปะทุของภูเขาไฟในทะเล ต้องนำหัววัดเหล่านี้อยู่ใกล้กับแนวภูเขาไฟ หรือ หากติดตั้งในพื้นที่ชายฝั่งอาจตรวจวัดได้หากการปะทุส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง 4-5
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่มีสถานีตรวจวัด infrasound