ดร.ณัฏฐ์ ซัดเกมดัน ‘อนุทิน’ แค่สับขาหลอก-เรียกกระแส
“ดร.ณัฏฐ์” ชี้ พรรคฝ่ายค้าน ชูธง “อนุทิน”เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เป็นเกมสับขาหลอก สร้างคะแนนนิยม ฝ่ายรัฐบาลคุมเกมเสียงข้างมาก แม้เปลี่ยนม้ากลางศึก
4 กรกฎาคม 2568 - สืบเนื่องจากเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 3 ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้ประชุมร่วมกันครั้งแรก โดยพรรคภูมิใจไทย ทำหน้าที่ฝ่ายค้านเป็นครั้งแรก มีการพูดคุยแนวทาง โดยพรรคประชาชนจะสนับสนุนจำนวน 142 เสียง เพื่อผลักดัน เสนอ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข เพื่อนำไปสู่ภารกิจชั่วคราว เช่นการผ่านงบประมาณในวาระ 3 การยุบสภา นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่ หรือการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตั้ง สสร.นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และล่าสุดพรรคประชาชนออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนอีกครั้งหากกรณีนางสาวแพทองธารฯ นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งนั้น
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน เผยแพร่ความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะในประเด็นดังกล่าว โดยมีเนื้อหาดังนี้
กลไกรัฐธรรมนูญในระบบสภาของประเทศไทยยังไม่ถึงทางตัน ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญ เคยสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเคยเกิดขึ้น ในปี 2564 มาแล้ว
เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง กรณีที่บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ สส.,สว.หรือรัฐมนตรี ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เป็นมาตรการวิธีการชั่วคราวระหว่างพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรกของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560
กลไกรัฐธรรมนูญ ในการเปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ในระหว่างระยะเวลาอายุสภาที่เหลืออยู่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 99 สามารถกระทำได้ เพราะคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ทำให้สถานะความเป็นคณะรัฐมนตรีพ้นทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(4) ประกอบมาตรา 167(1)
เจตนารมณ์ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรคสาม ที่ว่า “..มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผยและมีคะแนนเสียงมากว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผุ้แทนราษฎร
อธิบายภาษาชาวบ้าน เข้าใจง่าย ว่า เกมแห่งอำนาจให้ใช้เสียงข้างมาก เฉพาะ สส.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วน สว.ไม่มีอำนาจ โดยใช้เกมเสียงข้างมาก พรรคแกนนำใดรวบรวม สส.ได้มากสุด ได้เป็นรัฐบาล
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะระบบรัฐสภา ให้ประชาชนเลือกตั้ง สส.ตามพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติแทนประชาชน โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจ สส.เลือกนายกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร
โดยใช้เกณฑ์การเสนอชื่อจะต้องมี สส.รับรองจำนวน “หนึ่งในสิบ”ของจำนวนเท่าที่มีอยู่ในสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรคสอง ปัจจุบัน สส.มีจำนวน 495 คน ต้องใช้เสียงรับรองไม่น้อยกว่า 50 คน
และใช้เกณฑ์ “เสียงข้างมาก”จาก สส.เท่าที่มีอยู่ในสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรคสาม ปัจจุบัน สส.มีจำนวน 495 คน ต้องใช้มติเสียงข้างมากไม่น้อยกว่า 248 คน
แต่เพิ่มเสถียรภาพและเสียงไม่ปริ่มน้ำ แกนนำจะรวบรวมทุกพรรคการเมืองที่มี สส.เกินกว่า 30 เสียงหรือประมาณ 280 เสียงขึ้นไป เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จะก่อให้เกิดงูเห่าทางการเมืองและส่งผลทำให้สภาล่มบ่อย
โมเดลชูธงฝ่ายค้าน มักจะไม่เกิดในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพราะกลเกมแห่งอำนาจระบบรัฐสภา จุดชี้ขาดที่ “เสียงข้างมาก” เป็นเพียงผลทางจิตวิทยา ข่มขวัญและสร้างความปั่นป่วนให้แก่ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน มิใช่เป็นทางออกของประเทศ
กรณีผลักดันให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขดูเหมือนประหนึ่งว่า ประเทศถึงทางตัน ไร้ทางออก แต่กลไกรัฐธรรมนูญประเทศยังเดินต่อไปได้ โดยใช้กลไกรัฐธรรมนูญในระบบรัฐสภา
หากเปรียบเทียบกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 21/2567 ให้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งกรณีขาดคุณสมบัติรัฐธรรมนูญมาตรา 160(4) (5) เป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แผลงฤทธิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ชิงเกมเปลี่ยนตัว รวบรวมเสียงข้างมากเสนอรายชื่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยใช้มติพรรคและกลไกรัฐธรรมนูญมาตรา 159
โมเดลฝ่ายค้าน กลเกมแห่งอำนาจ เป้าหมายหลักเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้แก่พรรคประชาชน เป้าประสงค์หลัก หมุดหมายเพื่อเพิ่มตัวเลข สส.ให้แก่พรรคตนเอง หากจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ หวังเป็นรัฐบาลในปี 2570
ส่วนพรรคภูมิใจไทย ชูธงแกนนำพรรคอนุรักษ์นิยมแท้ เป้าหมายไม่ต่างกัน ดังจะเห็นได้ ใช่กระแสนางสาวแพทองธารฯ นายกรัฐมนตรีเพลี่ยงพล้ำ ถอนตัวจากรัฐบาลผสม มาเป็นฝ่ายค้านและลาออกจากรัฐมนตรีตามโควต้าและชิงธงนำมติพรรคยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจทันที
แต่ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเกมพุ่งเป้าเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี มิใช่ทั้งคณะรัฐมนตรี และนางสาวแพทองธารฯ นายกรัฐมนตรีถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จึงหันไปใช้เกมจิตวิทยา ชูธงผลักดันนายอนุทิน ฯ เป็น นายกรัฐมนตรีชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะพรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคการเมืองขนาดกลาง ออกแบบมาเป็นพรรคการเมืองท้องถิ่น หมุดหมาย เพื่อรวบรวมเสียงขนาดกลาง เป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ต่างจากพรรคชาติไทยพัฒนา
การชิมลางเป็นฝ่ายค้านครั้งแรก จึงคิดการใหญ่ เพื่อเป็นตัวแปรในการเปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ทำให้การเมืองสนามใหญ่คึกคัก เป้าหมายหลัก เข้าไปคุมกระทรวงมหาดไทยเช่นเดิม เพื่อชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้ง สส.ในสมัยหน้า
แต่การออกแบบระบบเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งสองใบ เพื่อสร้างความสมดุลและความหลากหลายทางกลุ่มอาชีพ ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดในประเทศไทย จัดตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองเดียวได้ แม้จะบางพรรคราคาคุยโม้โอ้อวด สมัยหน้า จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองเดียว หาเป็นเช่นนั้นไม่ แตกต่างจากในปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทย ใช้โมเดลควบรวมพรรคการเมืองพรรคอื่น โดยพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง นำไปสู่การจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กเป็นคู่แข่ง นำมาสู่การรัฐประหารในปี 2549 และยุบพรรคต่อมา
กลเกมแห่งอำนาจ เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีใหม่ กลไกลรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ให้ยึดหลัก “เสียงข้างมาก” หมายถึง แกนนำรวบรวม สส.จากพรรคการเมืองที่มี สส.มากที่สุดในสภา
ฝ่ายค้านชูธงล่วงหน้า เป็นเพียงกลเกมสับขาหลอกของฝ่ายค้านด้วยกัน เป็นกลยุทธ์เพิ่มคะแนนนิยมเป้าประสงค์เสียงเชียร์จากประชาชน ในขณะที่ชุมนุมจากภาคประชาชนยังไม่ยุติ แต่เป้าประสงค์แท้จริง เป็นกลยุทธ์ตีเกราะ สร้างคะแนนนิยมให้แก่พรรคของตนเองเพิ่ม หวังในการสมัยหน้า จะเพิ่มตัวเลขและแลนสไลด์ เป็นเกมตีธงล่วงหน้า
หากพิจารณาจากเสียงฝ่ายค้าน พรรคประชาชน จำนวน 142 เสียง และพรรคภูมิใจไทย จำนวน 69 เสียง หากนำฝ่ายค้านมารวมกัน เสียงยังไม่เพียงพอกึ่งหนึ่งของจำนวน สส.จำนวนที่มีอยู่ กลเกมช่องทาง จะต้องไปเจรจาเพิ่มเสียง จากพรรคการเมืองขั้วฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน
แนวโน้มสูงในการรวบรวมเสียงข้างมาก แม้พรรคประชาชน ยืนยันว่า จะโหวตให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว โดยมีเงื่อนไข แต่ไม่ร่วมรัฐบาล ย่อมมีเสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
เงื่อนไขที่พรรคประชาชนกำหนดไว้แต่ละข้อ ดูเหมือนเป็นพระเอก กลับวืดเป้า
เพราะหากยุบสภา ตามกรอบที่พรรคประชาชนกำหนด ฝ่ายรัฐบาลมีคะแนนนิยมน้อยกว่าฝ่ายค้าน จึงเสียเปรียบในการเลือกตั้ง แม้จะเพิ่งได้กุมอำนาจในกระทรวงมหาดไทยก็ตาม
โดยที่พรรคประชาชนลืมไปว่า เคยถูกนายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย ปฏิเสธไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่ชนะเลือกตั้งในปี 2566 เพื่อผลักดันให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขณะนั้น เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่า “ไม่เอาพรรคมาตรา 112” และขณะนี้ ถูก กกต.ไต่สวน กล่าวหาร่วมกันทุจริตฮั้วเลือกตั้ง สว.
หากมีการเปลี่ยนม้ากลางศึก ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ยังกุมอำนาจ ยังครองเสียงข้างมากในสภา เพราะพรรคตัวแปร เป็นพรรคขนาดกลางที่มี สส.อาทิ พรรคกล้าธรรม พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ เป็นตัวแปรสำคัญ ยังมีเสถียรภาพแนบแน่นกับพรรคเพื่อไทยแกนนำ กุมอำนาจเด็ดขาดและครองเสียงในสภามากกว่า
ในบัญชีพรรคเพื่อไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ยังคงมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยยังคงเหลืออยู่ คือ “นายชัยเกษม นิติสิริ”
แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรคหนึ่ง บัญญัติ “…เป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น สส.ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าทีมีอยู่ของสภา
หมายความว่า บัญชีรายชื่อให้เห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ยึดบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของ “จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าทีมีอยู่ของสภา” ไม่ได้ถือว่า จำนวน สส.ที่ กกต.ประกาศรับรองรายชื่อแต่ละพรรคการเมืองตั้งแต่ปี 2566
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายค้าน มีจำนวน สส.ทั้งหมดเท่าไม่ถึง 25 คน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรคหนึ่ง
การออกแถลงการณ์ของพรรคประชาชน ให้ผู้สนับสนุนเพิ่มแรงเชียร์ เป็นเกมกลยุทธ์ เพิ่มคะแนนนิยมไปในตัว แต่ไม่อาจปฏิบัติได้ และเป็นไปได้ยาก ในมิติรวบรวมเสียงข้างมากในภูมิรัฐศาสตร์ และเสียงข้างมากในสภา ไม่ต่างจากนำยางพาราไปขายบนดาวอังคาร
กลไกรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ อย่าง กกต.กำลังเข้มข้นดำเนินคดีอาญาในคดีฮั้ว สว.สีน้ำเงิน พุ่งเป้ากล่องดวงใจพรรคสีน้ำเงินและสภาสูงสีน้ำเงิน ที่ นายเนวิน ชิดชอบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย รวมถึงพลพรรคในแกนนำเครือข่ายไม่น้อยกว่า 162 คน
หากพลาดท่า กกต.วินิจฉัยชี้ขาด ว่ามีความผิดร่วมกันทุจริตการเลือก สว. อันเป็นการฝ่าฝืน พรป.การได้มาซึ่ง สว. ย่อมถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาอั้งยี่ กระทำผิดมูลฐานการฟอกเงินและถูกยึดทรัพย์ เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง รวมถึงยุบพรรคภูมิใจไทยตามมา
โอกาสที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล แห่งค่ายสีน้ำเงิน จึงไม่มีโอกาสไปถึงฝันเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข โดยพรรคประชาชนฝ่ายค้าน “ต้อนรับน้องใหม่” ใช้เกมสับขาหลอก โฆษณาชวนเชื่อ ขายฝันกลางวันเพราะพรรคภูมิใจไทยไม่ถนัดเป็นฝ่ายค้านเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เพราะประเทศยังไม่ถึงทางตัน เป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญในระบบรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภา จะเป็นตัวแปรให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง.