คิดถึง “กวี” (Poet) คิดถึง รพินทรนาถ ฐากูร(Rabindranath Tagore)
สถาพร ศรีสัจจัง
“…ความงดงามไพเราะของกาพย์กลอนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์จำกัด แต่ทว่าก็ข้ามกฎเกณฑ์นั้นเสียสิ้น กฎเกณฑ์เป็นประหนึ่งปีกอันนำไปสู่อิสรภาพ ไม่ใช่เครื่องถ่วง รูปร่างของมันอยู่ใต้กฎเกณฑ์ แต่วิญญาณของมันอยู่ในความงาม กฎเกณฑ์เป็นก้าวแรกไปสู่ความหลุดพ้น และความงามก็คือความหลุดพ้นอันยืนหยัดอยู่บนรากฐานแห่งกฎเกณฑ์ ในความงามนั้นมีความกลมกลืนของขอบเขตกับสิ่งนอกขอบเขต มีความกลมกลืนของกฎเกณฑ์กับความหลุดพ้น…”
และ
“…ไวยากรณ์มิใช่วรรณกรรม และฉันทลักษณ์มิใช่กาพย์กลอน เมื่อเรามาถึงวรรณคดี เราจะพบว่า แม้มันจะขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของไวยากรณ์ แต่ทว่ามันก็เป็นสิ่งก่อความชื่นชม มันเป็นตัวอิสรภาพ”
ถ้อยความที่ยกมาวางไว้ เป็นถ้อยความจากหนังสือ “สาธนา” (Sadhana) ของ มหากวี นามอุโฆษชาวอินเดีย “รพินทรนาถ ฐากูร”!
รพินทรนาถ ฐากูร ถือกำเนิดช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2404 (คือเมื่อ 164 ปี ที่แล้ว) ณ แคว้นเบงกอล ประเทศอินเดีย หลังจากผลงานปรัชญกวีเล่มสำคัญที่ชื่อ “คีตาญชลี” (Gitanjali) ของท่านได้รับการแปลถ่ายทอดจากภาษาเบงกอล(บังลา)เป็นภาษาอังกฤษในค.ศ.1912(พ.ศ.2455)
นามของ “รพินทรนาถ ฐากูร” กวี และ นักเขียนชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโบลสาขาวรรณกรรม(Literature)ก็ขจรขจาย!
หลังจากนั้นไม่นานงานชิ้นสำคัญๆของท่านก็ได้รับการถ่ายทอดจากภาษาเบงกอลสู่โลกวรรณกรรมภาษาอังกฤษอันกว้างไกลแทบจะทุกเรื่องทุกเล่ม
ตั้งแต่ จันทร์เสี้ยว คนสวน จิตรา และแม้กระทั่งเขียนในวัยหนุ่มชิ้นสำคัญที่ลือลั่นสืบมา นั่นคือบทกวีชิ้นลือนามที่ชื่อ “หิ่งห้อย” ( Fireflies )
ความยิ่งใหญ่ในฐานะกวีผู้เป็น “นายของภาษา” และ เป็นผู้แตกฉานในศาสนธรรมและจักรวาลวิทยาของท่านนี้เอง ที่ทำให้ได้รับยกย่องเป็นหนึ่ง “คุรุเทพ” อันยิ่งใหญ่ของอินเดีย
และ “คุรุเทพ” นาม “รพินทรนาถ ฐากูร” ท่านนี้เอง คือผู้สถาปนามหาวิทยาลัยที่เปี่ยมเต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ นาม “ศานตินิเกตัน” อันยิ่งใหญ่ขึ้น โดยการสืบสานเจตนารมณ์จาก
“มหาฤาษีเทเวนทรนาถ ฐากูร” ผู้บิดา
“ศานตินิเกตัน” ที่ได้รับยกย่องให้เป็น “มรดกโลก” มาตั้งแต่พุทธศักราช 2566!
บทกวีของรพินทรนาถ ฐากูร ยิ่งใหญ่อย่างไร ข้ามพ้น “ไวยากรณ์” อย่างไร ลองมาดูตัวอย่างสักเพียง 2 บทสั้นๆดูสักหน่อยเป็นไร…
บทแรกเป็นบางตอนจากหนังสือรางโนเบลที่ชื่อ “คีตาญชลี” เล่มที่ว่านั้น แปลโดยคู่สามีภรรยาศิลปินแห่งชาติชาวไทยนาม “กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย”
“จงเลิกเสียเถิด การท่องบ่นภาวนา
จงเลิกเสียเถิด การนับลูกประคำ
เจ้ากำลังกราบไหว้บูชาใครอยู่คนเดียวในมุมมืดของวิหาร ที่ประตูปิดเสียหมดเช่นนี้
จงลืมตาขึ้นเถิด จงดูเถิดว่า พระผู้เป็นเจ้ามิได้ประทับอยู่ที่นี่ดอก!
พระองค์ทรงอยู่กับชาวนาที่กำลังไถคราดอยู่บนพื้นดินอันแตกระแหง…”
และอีกบทจากหนังสือเรื่อง “หิ่งห้อย” ถอดความเป็นพากย์ไทยโดย ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา และ ระวี ภาวิไล
“ขณะที่พระผู้เป็นเจ้าทรงรอ
ให้พระวิหารของพระองค์ถูกสร้างขึ้นด้วยรัก
มนุษย์ก็ขนศิลามา”
แล้วจึงคิดถึงคำของท่านบางท่อนจากหนังสือ “สาธนา” อีกครั้ง
“…ความงดงามไพเราะของกาพย์กลอนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์จำกัด แต่ทว่าก็ข้ามกฎเกณฑ์นั้นเสียสิ้น กฎเกณฑ์เป็นประหนึ่งปีกอันนำไปสู่อิสรภาพ ไม่ใช่เครื่องถ่วง รูปร่างของมันอยู่ใต้กฎเกณฑ์ แต่วิญญาณของมันอยู่ในความงาม กฎเกณฑ์เป็นก้าวแรกไปสู่ความหลุดพ้น และความงามก็คือความหลุดพ้นอันยืนหยัดอยู่บนรากฐานแห่งกฎเกณฑ์…”
คิดถึงกวี คิดถึง “กวีไทย” วันนี้พวกเขากำลังคิดอะไรกันอยู่…?