หมอแล็บฯ เตือนใช้ "เครื่องกรองน้ำ" 4 ค่าเสี่ยงที่ต้องรู้ ฟันตกกระ-น้ำปนอุจจาระ แค่ใสไม่พอ!
หมอแล็บฯ เตือน 4 ค่าเสี่ยงที่ต้องรู้ ก่อนใช้ "เครื่องกรองน้ำ" ฟันตกกระ-น้ำปนอุจจาระ อย่ามองข้าม!
ช่วงนี้กระแสเรื่องเครื่องกรองน้ำกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพน้ำดื่มที่หลายคนเริ่มหันมาใส่ใจมากขึ้น ล่าสุด ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ได้โพสต์ให้ความรู้เรื่องดังกล่าวผ่านเพจเฟสบุ๊กเพจ หมอแล็บแพนด้า เกี่ยวกับ "ค่าที่ใช้วิเคราะห์น้ำดื่ม" ที่คนทั่วไปอาจไม่เคยสังเกต หรือแม้แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร
ในโพสต์ดังกล่าว หมอแล็บฯ บอกไว้ชัดเลยว่า แม้น้ำจะดูใสสะอาด แต่นั่นไม่ใช่เครื่องการันตีว่าน้ำปลอดภัย เพราะถ้าตรวจแล้วเจอ“4 ค่าต่อไปนี้” เกินมาตรฐานเมื่อไร ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายแบบไม่รู้ตัว!
1. Fluoride (ฟลูออไรด์)
ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่ช่วยป้องกันฟันผุได้ ถ้าอยู่ในระดับพอเหมาะ แต่ถ้ามีมากเกินไป (เช่น เกิน 1.5–2.0 มก./ลิตร) อาจทำให้ฟันตกกระ คือเกิดรอยด่างขาวที่ผิวฟัน หรือสะสมในกระดูกได้ โดยตรวจสอบผ่านวิธี SPADNS ซึ่งเป็นการวัดผ่านการเปลี่ยนสีของน้ำ ระดับปลอดภัย ไม่ควรเกิน 0.7 มก./ลิตร
2. Coliform Bacteria (โคลิฟอร์มแบคทีเรีย)
กลุ่มแบคทีเรียพวกนี้ไม่ใช่เชื้อร้ายโดยตรง แต่การพบพวกมันในน้ำดื่มหมายถึงน้ำอาจปนเปื้อนสิ่งสกปรก เช่น น้ำเสีย ดิน หรือแม้แต่อุจจาระจากสิ่งมีชีวิต โดนตรวจผ่านการเพาะเชื้อในห้องแล็บแล้วนับปริมาณด้วยวิธี MPN มาตรฐานที่ปลอดภัยต้องน้อยกว่า 1.1 MPN / 100 มิลลิลิตร
3. E. coli (อีโคไล)
แบคทีเรียตัวนี้อยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์ ถ้าเจอในน้ำดื่ม ก็ชัดเจนว่าน้ำมีการปนเปื้อนจากอุจจาระ ซึ่งอาจนำโรคต่างๆ ตามมาได้ เช่น อุจจาระร่วงหรืออาหารเป็นพิษ ซึ่งมาตรฐานที่ปลอดภัยไม่ควรเกิน 1.1 MPN / 100 มิลลิลิตร เช่นกัน
4. Conductivity (ค่าการนำไฟฟ้า)
ค่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับไฟฟ้าโดยตรง แต่เป็นตัวชี้วัดว่าในน้ำมี แร่ธาตุหรือสารละลายอื่นๆ เจือปนอยู่มากน้อยแค่ไหน ถ้าค่าสูงมาก น้ำอาจมีสิ่งปนเปื้อนเยอะ และไม่เหมาะจะบริโภค โดยน้ำที่สะอาด ค่านำไฟฟ้าจะต่ำ เครื่องกรองน้ำที่มีคุณภาพจะช่วยลดค่านี้ลงได้ดี
ดังนั้น อย่าตัดสินน้ำดื่มแค่ดูใส! หลายคนอาจคิดว่าน้ำใสก็คือน้ำสะอาด แต่จริงๆ แล้วต้องดูให้ลึกกว่านั้น เพราะเชื้อโรคหรือสารบางอย่างมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า การตรวจสอบด้วยค่าต่างๆ ข้างต้นจะช่วยให้เรารู้ว่าน้ำที่เราดื่มในทุกวันนั้นปลอดภัยจริงหรือเปล่า
แม้เครื่องกรองน้ำดีๆ จะช่วยได้มาก แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าเรารู้ว่าควรดูค่าอะไรเป็นพิเศษก่อนตัดสินใจซื้อ หรือก่อนมั่นใจว่าน้ำที่บ้าน “สะอาดพอ” ท้ายที่สุดหมอแล็บฯ จึงฝากไว้สั้นๆ ว่า "รู้ไว้ใช่ว่า พาดขาแบกหามนะครับ!"
- ไม่ต้องตกใจ! "ผักบุ้งสีตก" กินได้ ไม่อันตราย "หมอแล็บ" เฉลยให้หายผวา มันคืออะไร?
- ปัสสาวะบ่อยหลังดื่มน้ำ แปลว่า "ไตดีหรือไตพัง?" ไขข้อข้องใจ เรื่องที่หลายคนยังสับสน!