23 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ตราพระราชกฤษฎีกา ตั้ง 'วรรณคดีสโมสร' สนับสนุนวิชาแต่งหนังสือไทยให้ถูกต้อง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกฤษฎีกาตั้ง 'วรรณคดีสโมสร' ขึ้น เพื่อสนับสนุนวิชาแต่งหนังสือไทยให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย ให้แต่งเรื่องที่อ่านแล้วได้สาระประโยชน์
โดยคัดเลือกหนังสือที่แต่งดี มีสารประโยชน์ เพื่อประกาศยกย่องหนังสือนั้น และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประทับตราพระราชลัญจกรรูปพระคเณศ เพื่อประกาศเกียรติคุณเช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชลัญจกรตรามังกรคาบแก้วเป็นเครื่องหมายของโบราณคดีสโมสร นับว่าเป็นครั้งแรกของรางวัลวรรณกรรมที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ หนังสือที่กำหนดให้ได้รับการพิจารณาตามความหมายในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ
กวีนิพนธ์ คือ งานประพันธ์ โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์
ละครไทย คือ เนื้อเรื่องที่ประพันธ์เป็นกลอนแปด แต่งเป็นกลอนแปด มีกำหนดหน้าพาทย์ฯลฯ
นิทาน คือ เรื่องราวอันผูกขึ้นและแต่งหรือประพันธ์เป็นร้อยแก้ว
ละครพูด คือ เนื้อเรื่องที่เขียนขึ้นสำหรับแสดงบนเวที ละครแบบไทย ได้มาจากตะวันตก เป็นละครที่ไม่แต่งเครื่อง อย่างละครรำ แต่แต่งตัวตามสภาพชีวิตจริง แสดงกิริยา(ท่าทาง)อย่างคนจริง ๆ และจัดฉากจริง ๆ ตามเนื้อเรื่อง (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดริเริ่มขึ้น)
อธิบาย คือ เอสเซย์หรือ แปมเฟลต แสดงด้วยศิลปวิทยาหรือกิจการอย่างใด อย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ตำราหรือแบบเรียน หรือความเรียงเรื่องโบราณคดี พงศาวดาร เป็นต้น
วรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรรัชกาลที่ ๖ หรือบางทีเรียกว่า 'ยอดของหนังสือ' ที่แต่งดีในแต่ละประเภท ดังนี้
ประเภทลิลิต ได้แก่ ลิลิตพระลอ เป็นยอดของลิลิต
ประเภทฉันท์ ได้แก่ สมุทรโฆษคำฉันท์ หรือ ฉันท์สมุทรโฆษ เป็นยอดของฉันท์
ประเภทกาพย์ ได้แก่ มหาชาติกลอนเทศน์ หรือ กาพย์มหาชาติคำเทศน์ (ปัจจุบันเรียกว่า ร่ายยาว) เป็นยอดของกาพย์
ประเภทความเรียงเรื่องนิทาน ได้แก่ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นยอดของความเรียงเรื่องนิทาน
ประเภทกลอนสุภาพ ได้แก่ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นยอดของกลอนสุภาพ
ประเภทบทละครรำ ได้แก่ อิเหนา บทละคร (รำ) ในรัชกาลที่ ๒ เป็นยอดของกลอนบทละคร (รำ)
ประเภทบทละครพูด ได้แก่ หัวใจนักรบ บทละคร (พูด) ในรัชกาลที่ ๖ เป็นยอดของบทละคร (พูด)
ประเภทความเรียงอธิบาย ได้แก่ พระราชพิธีสิบสองเดือน ในรัชกาลที่ ๕ เป็นยอดของความเรียงอธิบาย
ประเภทกวีนิพนธ์ ได้แก่ พระนลคำหลวง
ประเภทนิราศ ได้แก่ นิราศนรินทร์
ต่อมาภายหลังได้มีการพิจารณาหนังสือที่แต่งดีขึ้นอีก ได้แก่
ประเภทกาพย์เห่เรือ ได้แก่ กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นยอดของกาพย์เห่เรือ
ประเภทกลอนนิทาน ได้แก่ พระอภัยมณีหรือพระอภัยมณีคำกลอน ของสุนทรภู่ เป็นยอดของกลอนนิทาน
ประเภทบทละครร้อง ได้แก่ สาวเครือฟ้า เป็นยอดของบทละครร้อง
ประเภทบทละครพูดคำฉันท์ ได้แก่ มัทนะพาธา เป็นยอดของบทละครพุดคำฉันท์