MEDICAL FAIR THAILAND 2025โอกาสนวัตกรรมแพทย์ ‘เมดอินไทยแลนด์’สู่สายตาโลก
อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย กำลังขยับจากบทบาทผู้ผลิตไปสู่การเป็นกำลังสำคัญในเวทีระดับภูมิภาค ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์และความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยเติบโตต่อเนื่อง ทั้งในประเทศที่ขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี และการส่งออกที่โตถึง 7.5% ต่อปี โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ไทยมีศักยภาพสูง เช่น เวชภัณฑ์สิ้นเปลือง อุปกรณ์วินิจฉัยโรค และเครื่องมือฟื้นฟูสมรรถภาพ ขณะเดียวกัน การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น วัสดุชีวภาพ รากฟันเทียม ไปจนถึงการวินิจฉัยและกระบวนการผลิตขั้นสูง ก็กำลังผลักดันไทยไปอีกขั้นให้กลายเป็นศูนย์กลางด้าน MedTech ของภูมิภาค
ด้วยเหตุนี้ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนการจัดงาน “MEDICAL FAIR THAILAND 2025” งานแสดงสินค้าทางการแพทย์ระดับนานาชาติที่จัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพระดับภูมิภาค โดยรวบรวมผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ และผู้พัฒนานวัตกรรมจากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างเวทีเชื่อมต่อองค์ความรู้และความร่วมมือระดับโลก
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Wellness and Medical Service Hub) โดยได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัยสำคัญ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับการดูแลระยะยาวและการฟื้นฟูสมรรถภาพ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเจ็บป่วยและโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนการขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ทำให้สถานพยาบาลในประเทศเร่งยกระดับเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรองรับผู้ป่วยจากต่างประเทศ
จากแนวโน้มที่เป็นไปในทิศทางบวกเห็นโอกาสของกลุ่มนวัตกรรมการแพทย์ไทยซึ่งพบว่าจะได้อานิสงส์มากขึ้นจากการเป็นทั้งผู้ผลิตเพื่อใช้ในประเทศ และการสร้างแบรนด์นวัตกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยหัวใจสำคัญคือ การยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ของไทยให้มีศักยภาพในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการกำหนดมาตรฐานนวัตกรรมทางการแพทย์ระดับภูมิภาค
ดร.กริชผกา กล่าวต่อว่าเทคโนโลยีเชิงลึกด้านการแพทย์ (Deep Tech) เช่น AI เพื่อการวินิจฉัย จีโนมิกส์ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ และวัสดุชีวภาพขั้นสูง กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก และจะกลายเป็นข้อได้เปรียบเชิงโครงสร้างของประเทศที่สามารถพัฒนาได้เอง ในประเทศไทย ผู้ประกอบการด้านอุปกรณ์การแพทย์ที่อยู่ในระบบของ NIA ปัจจุบัน 60–70% เป็นสตาร์ทอัพ และอีก 30% เป็น SME ที่มีศักยภาพในการส่งออก การผลักดันให้นวัตกรรมเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ควรเกิดจากการจับคู่สตาร์ทอัพที่มีไอเดียใหม่ ๆ กับ SME ที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตและการตลาด เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความพร้อมเชิงพาณิชย์
ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลกเรื่องจุดเด่นด้านการแพทย์ ดร.กริชผกา กล่าวว่าแม้ภาพรวมอาจยังไม่ชัดเจน แต่ประเทศไทยได้มีการพัฒนาเชิงระบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดตั้งแพลตฟอร์มกลางเพื่อบูรณาการภาครัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพ รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัย ทดลอง และทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันแบรนด์นวัตกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ไม่ใช่เพียงแค่ส่งออกสินค้า แต่เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ว่าไทยคือประเทศแห่งนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากรวิจัยที่มีศักยภาพ ตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัพไทยที่พัฒนา AI วินิจฉัยมะเร็งเต้านมและเทคโนโลยี AI สำหรับงานหัตถการ ซึ่งถูกนำไปใช้จริงในโรงพยาบาลชั้นนำ แสดงให้เห็นว่าองค์ความรู้และฝีมือของนักพัฒนาไทยสามารถแข่งขัน หรือการนำข้อมูลต่างๆที่ไทยมีจำนวนมากในอนาคตถูกนำมาพัฒนาเพื่อใช้ AI ในเชิงการแพทย์ ซึ่งอาจจะกลายเป็นจุดเด่นด้านการแพทย์ของไทย
" ความเร็ว หรือ Time to Market คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนนวัตกรรม เพราะทั่วโลกต่างพัฒนาไปพร้อมกัน ใครเข้าสู่ตลาดได้ก่อนย่อมได้เปรียบ จึงต้องเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพที่มีไอเดียใหม่ กับภาคอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์และช่องทางตลาด อีกแนวทางสำคัญคือการใช้ไทยเป็น Pilot Site โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น การทดลองใช้อุปกรณ์ผ่าตัดแบบ 3 มิติ ที่บริษัทสตาร์ทอัพจากต่างประเทศสามารถเข้ามาทดลองใช้งานจริงร่วมกับโรงพยาบาลไทย ซึ่งจะช่วยให้เขาเห็น Value ของตลาดไทย และตัดสินใจลงทุนหรือขยายธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางต่อยอดการขับเคลื่อน โดยเฉพาะการพา SME ที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดโลก"ดร.กริชกา กล่าว
ด้านดร.พสุ สิริสาลี นักวิจัยอาวุโสทีมวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านบาทต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในอดีต โดยเฉพาะการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีทั้งบุคลากรและไอเดียที่พร้อม ดังนั้น จึงมุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเชิงลึก (Upstream R&D) เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญของประเทศ
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สวทช. มีผลงานวิจัยและองค์ความรู้ในด้านการแพทย์และสุขภาพมากกว่า 700 เรื่อง ครอบคลุมตั้งแต่วัสดุชีวภาพ อุปกรณ์ฝังในร่างกาย เทคโนโลยีวินิจฉัย ไปจนถึงเวชศาสตร์ฟื้นฟู โดยหลายชิ้นงานพร้อมถ่ายทอดให้ภาคเอกชนนำไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เช่น M-Bone วัสดุทดแทนกระดูกที่ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งสามารถลดการนำเข้าวัสดุปลูกกระดูกได้กว่า 100 ล้านบาทต่อปี
“อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในไทยมี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การวิจัยและพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานที่เข้มงวด เช่น ต้องผ่านการรับรองจาก อย. เพื่อยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการนี้อาจต้องใช้เวลานานนับสิบปี ขณะที่โรงงานผลิตในประเทศยังมีข้อจำกัดด้านมาตรฐาน 2.การสร้างความเชื่อมั่นต่อการใช้งานจริงในระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อส่งออกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกับคู่แข่งที่มีประสบการณ์และกำลังการผลิตสูง ดังนั้นแม้จะมีผลงานกว่า 700 เรื่อง แต่มีเพียง 5% ที่สามารถเข้าสู่เชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ และยังมีบางผลงานที่แม้จะผ่าน อย. แล้ว แต่กลับไม่สามารถขายได้ ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน”ดร.พสุ กล่าว
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า ในกระบวนการพัฒนา สวทช. เข้ามามีบทบาทสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบ การทดสอบและรับรองคุณภาพ ผ่านศูนย์ทดสอบต่าง ๆ ในเครือ เช่น INTEC, IBET, SPORT และ P1 ที่สามารถให้บริการทดสอบตามมาตรฐานสากล พร้อมให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคเพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย เมื่อผ่านขั้นตอนขึ้นทะเบียนแล้ว กลไกถัดไปคือการผลักดันเข้าสู่ตลาดจริง โดยเฉพาะในภาครัฐ ซึ่ง สวทช. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สวทน. เพื่อผลักดันโครงการบัญชีนวัตกรรมไทย ที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อเทคโนโลยีของไทยได้ง่ายขึ้น
ในด้านตลาด ดร.พสุ มองว่า กองทุนสุขภาพ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการใช้งานจริงในประเทศ แต่ยังไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการต้องขยายสู่ตลาดต่างประเทศผ่านการออกงานแสดงสินค้า การจับคู่ธุรกิจ และการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ซึ่งเวที MEDICAL FAIR THAILAND 2025 จะเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทยต่อสายตานานาชาติและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ และเติบโตอย่างยั่งยืนบนเวทีโลก
ซี เลย์ อิง Deputy Portfolio Director MEDICARE ASIA บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางการแพทย์ของอาเซียน จากแรงสนับสนุนของภาครัฐ การเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง และนโยบายเปิดรับการลงทุนในเทคโนโลยีสุขภาพ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี บริการ และนวัตกรรมด้านการแพทย์
ซี เลย์ อิง กล่าวต่อว่า หนึ่งในอุตสาหกรรมเด่นคือ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำร่วมกับมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยมีจุดแข็งด้านค่ารักษาที่เข้าถึงได้ มาตรฐานระดับสากล และการดูแลแบบองค์รวม ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 433.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเติบโตต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยปีละ 15.24% จนแตะ 1,349.10 ล้านดอลลาร์ในปี 2575 สะท้อนความเชื่อมั่นในศักยภาพของบริการทางการแพทย์ไทยนอกจากนี้ ความก้าวหน้าในการวิจัยวัสดุชีวภาพ รากฟันเทียม เทคโนโลยีวินิจฉัยโรค และการผลิตเครื่องมือแพทย์มูลค่าสูง ยังช่วยเสริมความแข็งแกร่งของไทยในห่วงโซ่อุปทานด้าน MedTech ของภูมิภาค
สำหรับงาน MEDICAL FAIR THAILAND 2025 จะมีการจัดแสดงสินค้ามากกว่า 1,000 ราย จากกว่า 40 ประเทศ พร้อมด้วย 20 พาวิลเลียนไทยและนานาชาติ ครอบคลุมเทคโนโลยีหลากหลายด้าน เช่น โรงพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู และดิจิทัลเฮลธ์ ภายในงานยังมีสัมมนาและเวิร์กชอปเฉพาะทางเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทรนด์ในอุตสาหกรรมสุขภาพ และเปิดตัวโซนจัดแสดงใหม่หลายรายการ ได้แก่ LaunchPad: เวทีแสดงนวัตกรรมและผลงานจากสตาร์ทอัพ, Community Care: เทคโนโลยีดูแลผู้สูงอายุ ฟื้นฟูสมรรถภาพ และดูแลระยะยาวและMedical Manufacturing: ขยายพื้นที่นำเสนอเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือแพทย์ อัตโนมัติ และวัสดุนวัตกรรม
นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานร่วมกับ GITEX Digi Health และ Biotech Thailand เป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก GITEX GLOBAL หนึ่งในมหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก โดยจะช่วยยกระดับการนำเสนอนวัตกรรมด้านสุขภาพไทยสู่เวทีสากล และสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมสุขภาพอย่างรอบด้าน โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน 2568 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ติดตามการจัดงาน MEDICAL FAIR THAILAND 2025 ได้ที่ www.medicalfair-thailand.com