โลกหมุนเร็วขึ้น 22 ก.ค. อีกวันที่ไม่ครบ 24 ชม. เวลาโลกอนาคตอาจต้องลด 1 วินาที
นักวิทยาศาสตร์จาก International Earth Rotation and Reference Systems Service (IERS) รายงานว่า โลกหมุนเร็วขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงฤดูร้อนนี้ ส่งผลให้วันที่ 22 กรกฎาคม 2025 กลายเป็นอีกหนึ่งวันที่สั้นที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ โดยทีระยะเวลาสั้นลงจากมาตรฐาน 24 ชั่วโมงถึง 1.34 มิลลิวินาที
ก่อนหน้านี้วันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่สั้นที่สุดของปี โดยสั้นกว่ามาตรฐาน 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 1.36 มิลลิวินาที นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าวันที่ 5 สิงหาคม 2025 มีแนวโน้มว่าจะสั้นกว่า 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 1.25 มิลลิวินาที
โดยในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่า “maximum declination” ซึ่งหมายถึงอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ส่งผลให้แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ดึงโลกในลักษณะที่ทำให้การหมุนเร็วขึ้น คล้ายกับการหมุนลูกข่างจากด้านบนแทนที่จะหมุนจากตรงกลาง
เกิดอะไรขึ้นกับการหมุนของโลก?
โดยปกติแล้ว โลกใช้เวลา 86,400 วินาทีในการหมุนรอบตัวเองหนึ่งรอบ ซึ่งเท่ากับ 24 ชั่วโมงพอดี แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าโลกเริ่มหมุนเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีหลายปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุ ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงของแกนโลกชั้นในและชั้นนอก
- การละลายของธารน้ำแข็งที่เปลี่ยนแปลงการกระจายมวลของโลก
- การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก
- อิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรของโลก
ผลกระทบต่อการจับเวลา
แม้การเปลี่ยนแปลงเพียงไม่กี่มิลลิวินาทีจะไม่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วไป แต่สำหรับระบบที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น GPS, ดาวเทียม, ระบบธนาคาร และเครือข่ายโทรคมนาคม การเปลี่ยนแปลงนี้อาจสร้างความคลาดเคลื่อนได้
เพื่อรักษาความแม่นยำของเวลา นักวิทยาศาสตร์ใช้ “นาฬิกาอะตอม” ซึ่งสามารถวัดเวลาได้ละเอียดถึงระดับพันล้านวินาที และใช้ในการกำหนดเวลาโลกตามมาตรฐาน Coordinated Universal Time (UTC)
อาจต้องลบวินาทีออกจากเวลาโลก
หากแนวโน้มการหมุนเร็วขึ้นยังคงดำเนินต่อไป นักวิทยาศาสตร์อาจต้องทำสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือ การลบวินาทีออกจากเวลาโลก หรือที่เรียกว่า “Negative Leap Second” ภายในปี 2029 เพื่อรักษาความสอดคล้องระหว่างเวลาสากลเชิงพิกัด (UTC) ซึ่งเป็นมาตรฐานเวลาโลก กับเวลาที่อิงกับการหมุนจริงของโลก (UT1)
วินาทีอธิกสุรทิน (Leap Second) เป็นการเพิ่มหรือลดวินาทีพิเศษในระบบเวลา เพื่อให้เวลาสอดคล้องกับการหมุนของโลกอย่างแม่นยำในระยะยาว
ในอดี IERS มักจะเพิ่มวินาทีอธิกสุรทินเพื่อชดเชยที่โลกหมุนช้าลง แต่ด้วยแนวโน้มการหมุนที่เร็วขึ้นในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะต้อง "ลบวินาที" ออกจากระบบเวลา ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากต่อระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีทั่วโลกที่ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มวินาที ไม่ใช่ลบวินาที
IERS และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังคงเฝ้าติดตามการหมุนของโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบ และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนเวลาที่อาจจำเป็นในอนาคต เพื่อให้ระบบเวลาโลกยังคงแม่นยำและไม่ส่งผลกระทบต่อเทคโนโลยีที่สำคัญ
โลกหมุนเร็วขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่
ปรากฏการณ์ที่โลกหมุนเร็วขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตโลกเคยหมุนเร็วกว่าปัจจุบันมาก โดยเมื่อ 1-2 พันล้านปีก่อน วันหนึ่งมีความยาวเพียง 19 ชั่วโมง เนื่องจากดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้แรงโน้มถ่วงส่งผลต่อการหมุนของโลกอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม เมื่อดวงจันทร์ค่อยๆ เคลื่อนตัวห่างออกไป โลกก็หมุนช้าลงและวันก็ยาวขึ้นโดยเฉลี่ย
งานวิจัยของ NASA ระบุว่ากิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนก็มีส่วนทำให้ความยาวของวันเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.33 มิลลิวินาทีต่อศตวรรษระหว่างปี 2000-2018
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตพบ "ความแปรปรวน" ในการหมุนของโลก โดยในปี 2020 โลกได้หมุนเร็วที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 1970 และเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2022 โลกได้ทำสถิติวันที่สั้นที่สุดในรอบ 60 ปี โดยหมุนเร็วขึ้นถึง 1.59 มิลลิวินาที ส่งผลให้วันนั้นสั้นลงกว่า 24 ชั่วโมงเล็กน้อย
อ้างอิง : NewsBytes