“ทรัมป์” กดดันเฟดลดดอกเบี้ยครั้งใหญ่ พร้อมวางเกมเปลี่ยนตัว “พาวเวลล์” ปี 2569
ทรัมป์ เดินหน้ากดดันธนาคารกลางสหรัฐให้ลดดอกเบี้ยอย่างหนัก หลังส่งโน้ตตำหนิพาวเวลล์ว่า "ช้าเกินไป" พร้อมระบุอัตราดอกเบี้ยควรต่ำกว่า 1% ขณะเดียวกันรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เริ่มปูทางเปลี่ยนตัวประธานเฟดปีหน้า
วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เวลา 04.21 น. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังคงกดดันธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เขาได้ส่งรายชื่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไปให้เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด พร้อมเขียนข้อความกำกับด้วยลายมือ ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐควรอยู่ระหว่างระดับของญี่ปุ่นที่ 0.5% และเดนมาร์กที่ 1.75% พร้อมตำหนิพาวเวลล์ว่า "เช่นเคย ช้าเกินไป"
“คุณควรลดดอกเบี้ยลงมากกว่านี้ เรากำลังสูญเสียเงินหลายร้อยพันล้าน” ทรัมป์เขียนในโน้ตดังกล่าว ซึ่งเขายังนำไปโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย พร้อมแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า การเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐ ถือเป็น “หนึ่งในงานที่ง่ายที่สุด แต่ก็มีเกียรติที่สุดในอเมริกา และพวกเขาทำพลาด…เราควรจ่ายดอกเบี้ยแค่ 1% หรือถูกกว่านั้น!”
ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1% ในอดีตของสหรัฐ มักเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอ่อนแอหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย และช่วงที่เงินเฟ้อต่ำ เช่นเดียวกับโพสต์อื่น ๆ ของทรัมป์เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โพสต์นี้ดูเหมือนจะสับสนระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่เฟดกำหนด กับอัตราดอกเบี้ยที่นักลงทุนต้องการถือครองตราสารหนี้ของสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ซึ่งแม้จะได้รับอิทธิพลจากนโยบายของเฟด แต่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐ เงินเฟ้อ สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ และเสถียรภาพของสถาบันด้วย
ในขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำ และเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ของเฟด เจ้าหน้าที่เฟดจึงลังเลที่จะลดดอกเบี้ยจากระดับปัจจุบันที่ 4.25 - 4.5% จนกว่าจะมั่นใจว่า แผนการขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลทรัมป์จะไม่ก่อให้เกิดแรงกดดันด้านราคารอบใหม่
เมื่อวันจันทร์ เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนยังคงแสดงความกังวลดังกล่าว ขณะที่รัฐมนตรีคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ เริ่มวางแผนเกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งผู้ที่จะมารับตำแหน่งประธานเฟด ต่อจากพาวเวล ซึ่งมีกำหนดจะลงจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมปีหน้า
แม้ว่าทรัมป์ไม่สามารถปลดพาวเวลออกจากตำแหน่งได้ด้วยเหตุผลด้านนโยบาย แต่เมื่อสัปดาห์ก่อนเขาก็เรียกร้องให้พาวเวลล์ลาออก ขณะที่เบสเซนต์กลับมีท่าทีที่เป็นไปตามกระบวนการปกติมากกว่า โดยระบุว่า จะไม่มีการแต่งตั้ง "เงาประธาน Fed" หรือพยายามแทรกแซงนโยบายการเงินผ่านวิธีการพิเศษอื่น ๆ
“จะมีที่นั่งว่างในคณะกรรมการในเดือนมกราคม เราจึงได้พิจารณาว่าบุคคลที่จะมาแทนตำแหน่งนั้น อาจได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเฟดคนใหม่เมื่อเจย์ พาวเวลลงจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม” เบสเซนต์กล่าวกับ Bloomberg TV โดยตำแหน่งของผู้ว่าการ Fed คนปัจจุบัน อาเดรียนา คูเกลอร์ จะหมดวาระในเดือนมกราคม เบสเซนต์ยังกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า การมีที่นั่งว่างในเดือนมกราคม หมายความว่ารัฐบาลจะสามารถเสนอชื่อได้ประมาณเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน และให้วุฒิสภาพิจารณาแต่งตั้งต่อไป
หนึ่งในบุคคลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งประธาน Fed คือ คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าการและมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจนโยบายการเงินอยู่แล้ว ส่วนบุคคลอื่น ๆ เช่น อดีตผู้ว่าการ เควิน วอร์ช จะต้องรอให้มีที่นั่งว่างและได้รับการเสนอชื่อ รวมถึงผ่านกระบวนการอนุมัติจากวุฒิสภาก่อน
ข้อมูลเศรษฐกิจช่วงฤดูร้อนคือปัจจัยชี้ขาด แม้คำเรียกร้องของทรัมป์ในการลดดอกเบี้ยอาจสร้างความตึงเครียดในกระบวนการพิจารณาแต่งตั้งประธาน Fed คนใหม่ เนื่องจากเฟดควรมีอิสระจากการแทรกแซงทางการเมือง แต่ข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงฤดูร้อนนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ว่าความตึงเครียดระหว่างทำเนียบขาวกับ Fed จะทวีความรุนแรงขึ้นหรือลดลง หากเจ้าหน้าที่ Fed เห็นทางที่จะลดดอกเบี้ยด้วยตัวเอง
นักลงทุนคาดว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนกันยายนนี้ และอาจลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งก่อนหน้านี้มองเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐ ในเชิงลบและคาดว่า Fed จะรอจนสิ้นปีจึงค่อยลดดอกเบี้ย ได้ปรับคาดการณ์ใหม่ โดยคาดว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนเช่นกัน
“เราเคยคิดว่าผลกระทบจากภาษีศุลกากรช่วงฤดูร้อนจะทำให้ Fed ลดดอกเบี้ยเร็วไม่ได้ แต่จากข้อมูลเบื้องต้นที่มีอยู่ ผลกระทบจากภาษีดูจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังมีแรงกดดันลดเงินเฟ้อจากปัจจัยอื่น ๆ มากขึ้น เราจึงเชื่อว่า Fed ก็มองว่าภาษีศุลกากรจะมีผลต่อระดับราคาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น” นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมนระบุ
วอลเลอร์เคยกล่าวว่า การลดดอกเบี้ยอาจมีความจำเป็นตั้งแต่การประชุม Fed ในเดือนกรกฎาคมนี้ และอาจหยุดการลดหากเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้น
Fed กำลังจะได้รับข้อมูลตัวเลขการจ้างงานใหม่ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งจะสะท้อนว่า ตลาดแรงงานเริ่มชะลอตัวหรือไม่ หากชะลอตัวจริง ก็จะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ Fed อาจลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลเงินเฟ้อใหม่จะเปิดเผยในสัปดาห์หน้า
วันที่ 9 กรกฎาคม ก็เป็นอีกวันสำคัญสำหรับเฟด เพราะเป็นวันสิ้นสุดการพักการขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์ และยังไม่ชัดเจนว่าภาษีนำเข้าจะพุ่งสูงขึ้นหรือไม่ หรือรัฐบาลจะชะลอการขึ้นภาษีออกไปอีก
ขณะที่ ราฟาเอล บอสติก ประธาน Fed สาขาแอตแลนตา กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เขายังคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ และมองว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความแข็งแกร่ง
อ้างอิง : www.reuters.com