เปิด 6 “กองอสังหาฯ (Type1)” & 2 “กองโครงสร้างพื้นฐาน”...ในรอบ 1 ปี ยัง “ไร้ปันผล”
แม้การลงทุนในกลุ่ม “กองทุนอสังหาริมทรัพย์” (Type1, REIT, Infrafund) จะเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะสามารถสร้างกระแสรายได้จากค่าเช่ามาจ่ายในรูปของ “เงินปันผล” ให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนนั่นเอง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับ “ผลประกอบการ” ของกองทุนนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงซบเซา ไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาด ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจในภาคท่องเที่ยวอย่างเลี่ยงไม่ได้ มากน้อยแตกต่างกันไป โดยในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา (ที่มา: setsmart.com, ณ วันที่ 30 มิ.ย. 25) มี 6 “กองทุนอสังหาฯ (Type1)” เป็นกองทุนรูปแบบเดิมก่อนจะเปลี่ยนมาสู่รูปแบบใหม่ที่เป็น “REIT” ในปัจจุบัน ที่ยัง “จ่ายปันผลไม่ได้” ประกอบด้วย
- “CTARAF: กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา” ของบลจ.กสิกรไทย
- “M-PAT: กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอ็มเอฟซี ป่าตอง เฮอริเทจ” ของบลจ.เอ็มเอฟซี
- “QHOP: กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ควอลิตี้ ฮอสพิทอลลิตี้” ของบลจ.ยูโอบี
- “TLHPF: กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ไทยแลนด์ โฮสพีทาลิตี้” ของบลจ.วรรณ
- “TNPF: กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าตรีนิตี้” ของบลจ.พรินซิเพิล
- “TU-PF: กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์” ของบลจ.ยูโอบี
นอกจากนี้ ยังมี “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” (Infrastructure Fund) อีก 2 กอง ที่ยัง “ปันผลไม่ได้” อันเนื่องจากเรื่องของผลประกอบการเช่นเดียวกัน ได้แก่
- “3BBIF: กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต สามบีบี” ของบลจ.บัวหลวง
- “BTSGIF: กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท” ของบลจ.บัวหลวง
ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ได้มี “กองทุนอสังหาฯ” (Type1) เลิกกองทุนไป 1 กอง ได้แก่
- “URBNPF: กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เออร์บานา” ของบลจ.เกียรตินาคินภัทร เลิกกองทุนและเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 15 ส.ค. 24
ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน