มติ "ศาลรัฐธรรมนูญ" รับคำร้อง สั่ง "นายกฯอิ๊งค์" หยุดปฏิบัติหน้าที่ เปิดความเห็น "เสียงข้างน้อย" ชี้ข้อเท็จจริงตามคำร้อง ยังไม่ยุติชัดเจน
วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 เสียงรับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา 36 คน ขอให้พิจารณา วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่จากกรณีคลิปเสียงสนทนากับสมเด็จฯ ฮุนเซน เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่ากรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 ( 8 ) จึงรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและให้นางสาวแพทองธาร ผู้ถูกร้องยื่นคำร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
ส่วนคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้น.ส.แพทองธาร ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติ 7ต่อ2 ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1ก.ค.68 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
ทั้งนี้ ตุลาการเสียงข้างน้อยจำนวน 2 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ยุติชัดเจนให้ปรากฏเหตุอันควรสงสัย ว่านางสาวแพทองธาร ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง แต่เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง ให้ใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 71 ห้ามมิให้นางสาวแพทองธารผู้ถูกร้องใช้หน้าที่และอำนาจด้านความมั่นคงด้านการต่างประเทศและด้านการคลังจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย