กรมชลฯ เตือน 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา เตรียมเพิ่มการระบายน้ำสูงขึ้น 20-80 ซม.
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 3 ถึงผู้ว่าราชการ 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานครฯ
จากการคาดการณ์โดยกรมชลประทาน ในช่วง 1-7 วันข้างหน้า โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,400–1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขามีปริมาณประมาณ 100-150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 1,500-1,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และทางกรมชลประทานรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน 2 ฝั่ง ในอัตรา 400-450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 700–1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20–80 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา พื้นที่แม่น้ำน้อย โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน
สำหรับปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,094 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 15.58 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 672 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 6.71 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยา มีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 672 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงส่งผลทำให้ที่ สถานี C.3 บ้านบางพุทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 659 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนี้ ทางกรมชลประทานได้มีการผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมกันอยู่ที่ 431 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบจ่อพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำ
ทั้งนี้หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ทางกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนให้ 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด